Tuesday, September 17, 2019

เบาหวานหายขาดได้....จริงไหม (Diabetes Remission)

เบาหวานสามารถหายขาดได้ (Diabetes Remission) ทำได้จริงหรือ

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าเบาหวานนั้นมี 4 ประเภท คือ เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 (type 1 and type 2 diabetes), เบาหวานชนิดอื่นๆ และ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes/ GDM) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่  2 ยังไม่มีคำว่าหายขาดจากเบาหวานอย่างแท้จริง  แต่ก็เริ่มมีการใช้คำว่า หายขาดจากเบาหวาน โดยคำว่าหายขาดจากเบาหวาน (Diabetes remission) อาจหมายถึง การที่ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเช่นเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy/ DR) หรือเบาหวานลงไตและเท้า (Diabetic nephropathy and diabetic foot/diabetic neuropathy) โดยบทความนี้จะขอกล่าวถึง วิธีการหายขาดจากเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

Ozempic


  1.  เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้             ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้ยาฉีดอินซูลินทั้งในรูปแบบของปากกา (insulin pen) หรือ ปั๊ม (insulin pump) ซึ่ง เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ในต่างประเทศจะมีการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งในรูปแบบของการปลูกถ่ายตับอ่อน (pancreatic transplant) หรือเซลล์ของตับอ่อน (islet transplant) ซึ่งจะเป็นแนวทางการรักษาที่สำคัญในอนาคตที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หายขาดได้ คือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้ยา
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่มีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ทำให้อินซูลินที่มีในร่างกายไม่สามารถจัดการระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีสาเหตุจากพันธุกรรม (Genetic) การบริโภคหวานหรือแป้งมากเกินไป (Over carbohydrate eating) ขาดการออกกำลังกาย (Lack of excercise) ความอ้วน (Obesity or Overweight) ความเครียด (Stress) นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ (Lack or inadequate sleep) เป็นต้น โดยการรักษาหลักของ เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) มี 3 วิธีคือ
    1.  การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรจะเรียนรู้และปฏิบัติตาม เพราะถ้าเราควบคุมอาหารอย่างถูกวิธีก็สามารถลดยาลงได้ จนอาจจะหยุดยากินหรือยาฉีดก็เป็นได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าหายขาดจากเบาหวานหรือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลโดยไม่่ต้องใช้ยาเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามก็ควรตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c) และระดับน้ำตาล (Fasting blood sugar/ FBS) ร่วมกับการตรวจตา (Eye examination) การตรวจเท้า (Monofilament testing) และตรวจปัสสาวะ (Urine microalbumin)เป็นประจำ
    2. การใช้ยากินเพื่อรักษาเบาหวาน (Oral hypoglycemic agent) เช่น Metformin, Sulfonylurea (Gliplizide, Glimiperide), DDPIV inhibitor (Sitagliptin, linagliptin) , SGLT2 inhibitor (Dapaglifozin, Canaglifozin) เป็นต้น
    3. การใช้ยาฉีดเพื่อรักษาเบาหวาน เช่น Insulin (ชื่อการค้าเช่น Insulatard, Lantus, Tresiba) หรือ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Victoza, Trulicity, Ozempic, Wegovy) รวมทั้งยาผสมระหว่าง insulin และ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Xultophy)
  • โดยสรุปจะเห็นว่าการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ให้หายขาดนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (Dieting) โดยควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ไม่เกิน 10-12 ส่วนต่อวัน วิธีการนั้นไม่ได้ยากแต่ต้องศึกษาและเรียนรู้ ได้จากกินอย่างไร ให้ห่างไกลเบาหวาน (How to eat for prevent diabetes mellitus) อย่างอื่นที่ควรทำควบคู่ไปคือการออกกำลังกาย การลดความเครียด และการนอนหลับที่พอเพียง 
  • นอกจากนี้การลดน้ำหนักก็เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมเบาหวานมีการศึกษาพบว่าการผ่าตัดลดความอ้วนหรือ Bariatric surgery สามารถทำให้เบาหวานหายได้ เพราะฉะนั้น การลดน้ำหนักที่ดีสามารถอ่านได้ตามบทความ ลดน้ำหนัก...ด้วยตัวเอง 
  • อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญของเบาหวานคือควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
  • Diabetic Remission หรือ หายขาดจากเบาหวานก็ยังเป็นเป้าหมายที่ผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์และนักวิจัยยังคงทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธฺภาพและความปลอดภัยในระยะยาว แต่การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้มีโทษต่อร่างกายแต่ประการใด แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความต่อเนื่องเป็นสำคัญเพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอในการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)




Thursday, September 5, 2019

ยาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) ที่ใช้ได้ในประเทศไทย

เราควรใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนได้ไหม 

โรคอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ข้อเข่าเสื่อม รวมถึงภาวะซึมเศร้า อาจสร้างความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม ดังนั้นการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนย่อมส่งดีต่อร่างกายและจิตใจแน่น่อน แต่หลายครั้งที่เราพยายามลดน้ำหนักด้วยการคุมอาหารและออกกำลังกายแต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที่ ทำให้เกิดความท้อแท้บางคนถึงกับเลิกน้ำหนักไปเลยก็มี เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน สมุนไพรต่างๆที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ ในทางการแพทย์นั้นพวกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังนั้นยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนก็จะมีบทบาทในการช่วยลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะต้องพิจารณาถึงข้อบ่งใช้ (indication) และข้อห้ามในการใช้ (contraindication) ของแต่ละบุคคล โดยยาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) ที่ใช้ได้ในประเทศไทยมียาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) 3 ประเภทหลักๆ ซึ่งมีทั้งยาลดความอ้วนแบบกินและแแบบฉีด

1. Phentermine (เฟนเตอมีน); ชื่อการค้า Panbesy เป็นยากระตุ้นประสาทหรือลดความอยากอาหาร


Phentermine เป็นยาลดความอ้วนที่ใช้เสริมกับวิธีการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย phentermine จะทำหน้าที่ลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวบริเวณด้านข้างของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้มีการเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท 2 ชนิด คือ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine; NE) และ โดปามีน (dopamine; DA)ที่สมอง จึงมีผลทำให้ลดความอยากอาหารลงอย่างมาก อย่างไรก็ดีสารสื่อประสาทเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารแล้วยังส่งผลกระทบอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพชีวิตได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย มีอาการเคลิ้มฝัน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นสีผิดปกติไปจากเดิม และผลจากการเพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อจิตประสาท เช่น หงุดหงิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน และเกิดอาการติดยาได้
เมื่อรับประทานยา phentermine ติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้าได้ และอาจรับประทานยามากกว่าเดิม เนื่องจากยาไปมีผลทำให้ระดับ NE และ DA ลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะเบื่ออาหารอย่างมาก (anorexia)จนทำให้ภูมิต้านทานลดลงจากการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ซึ่งยา phentermine สามารถใช้เสริมกับการควบคุมอาหารได้ในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 หรือ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรที่มีโรคร่วมเช่นนอนกรน เบาหวาน ไขมันสูง แต่ไม่ควรใช้เกิน 3 เดือน และเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด

 2. Oristat (ออริสแตท); ชื่อการค้า Xenical ยาช่วยลดการดูดซึมของไขมัน


Orlistat เป็นยาลดความอ้วนที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ gastric lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากกระเพาะอาหารและยังยับยั้ง pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากตับอ่อน เอนไซม์เหล่านี้ทำหน้าที่ย่อยสลายไขมันจากอาหารที่อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลซึ่งมีขนาดโมเลกลุเล็กลง เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งจึงทำให้ไขมันยังคงอยู่ในลักษณะที่เป็นโมเลกุลใหญ่จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดการขับถ่ายเป็นไขมันออกทางอุจจาระ ดังนั้น orlistat จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมีอาหารที่มีไขมันอยู่เท่านั้น ไม่ว่าไขมันจะอยู่ในอาหาร นม หรือน้ำมันก็ตาม

Orlistat เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน (obesity)มักจะเริ่มใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร  ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง โดยที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้จนถึงเป้าหมาย โดยการใช้ยา orlistat จะได้ผลดีนั้นจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการเพิ่มการออกกำลังกายเสมอ

ปัจจุบันประเทศไทยมี orlistat ในรูปแบบแคปซูลขนาดความแรง 120 มิลลิกรัม โดยขนาดปกติที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง รับประทานพร้อมหรือหลังอาหารไม่เกิน 1ชั่วโมง โดยยา orlistatสามารถยับยั้งการดูดซึมไขมันได้สูงสุดที่ร้อยละ 30 ของปริมาณไขมันทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป จะเห็นว่ายังมีไขมันอีกร้อยละ 70 ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ได้หมายความว่าหากรับประทานยาเข้าไปแล้วจะสามารถรับประทานอาหารที่มีไขมันได้ไม่จำกัด นอกจากนี้การใช้ยามากกว่า 360 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของยามากขึ้นแต่อย่างใด

Orlistat มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาเอง การที่ไขมันไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึมทำให้ไขมันออกมาพร้อมอุจจาระ ดังนั้นอาการที่พบบ่อยๆ คือ มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ มีความอยากถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าเดิม ควบคุมการขับถ่ายลำบาก ปวดมวน ไม่สบายท้อง และผายลมได้ โดยมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 80 และระดับความรุนแรงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหากใช้ยาไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์

ถึงแม้ว่ายา Oristat จะดูเป็นป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่เนื่องจากราคาที่สูงและผลข้างเคียงในเรื่องของระบบขับถ่าย ดังน้น หากผู้ป่วยไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการรักษา ควรให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยา

3. Liraglutide; ชื่อการค้า Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน ยาฉีดใต้ผิวหนังช่วยลดน้ำหนักช่วยลดความอยากอาหาร


Liraglutide ที่มีชื่อการค้าว่า Victoza เป็นยาใช้รักษาเบาหวาน ซึ่งใช้ในขนาด 1.2 - 1.8 มิลลิกรัมต่อวัน แต่สำหรับการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนนั้นจะใช้ในชื่อการค้า Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน

Liraglutide เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonists ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลินหลังจากรับประทานอาหารจึงลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน และยังออกที่สมองช่วยลดความอยากอาหารจึงช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเผาผลาญในร่างกาย 
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบการรายงานได้บ่อยจากการใช้ยา Liraglutide ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องเสีย รวมถึงปฏิกิริยาคล้ายอาการแพ้ เช่น ผื่นลมพิษ เป็นต้น
ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Liraglutide ทำให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมธัยรอยด์หรือ medullary thyroid cancer ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยา Liraglutide ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิด medullary thyroid cancer อยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ หรือ ผู้ที่มีภาวะของพันธุกรรมบางอย่าง เช่น Multiple Endocrine Neoplasia syndrome type 2 เป็นต้น

ส่วนยาที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ เช่นฮอร์โมนไทรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาระบายต่างๆ จึงไม่ควรใช้เป็น
อย่างยิ่งในการลดน้ำหนักเพราะนอกจากไม่สามารถลดน้ำหนักได้แล้วยังอาจเกิดผลข้างเคียงอีกด้วย 

โดยสรุปยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนสามารถใช้ได้โดยขึ้นอยู่กับงข้อบ่งใช้ (indication) และข้อห้ามในการใช้ (contraindication) ของแต่ละบุคคล และต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ร่วมกับปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด


เรียบเรียงโดย: นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

Tuesday, May 14, 2019

การเลือกครีมกันแดดที่เหมาะสม (Choose the right sunscreen)

ผลิตภัณฑ์กันแดด (Sunscreen) มีให้เหลือหลายชนิด หลายยี่ห้อ แต่เราจะมีวิธีการเลือกครีมกันแดดอย่างไรหละ ให้ป้องกันแดดได้จริง ราคาเหมาะสม และเหมาะกับสภาพผิวของเรา

เริ่มจากฉลากของผลิตภัณฑ์กันแดดหรือครีมกันแดด

1. ค่า SPF (Sun protection factor)

ค่านี้จะบอกถึงความสามารถยับยั้งรังสียูวีบี (UVB) ที่ทำให้เกิดความแดง
เช่น SPF 15 สามารถยับยั้งรังสียูวีที่ทำให้เกิดความแดง 92.5%
       SPF 40 สามารถยับยั้งรังสียูวีที่ทำให้เกิดความแดง 97%

2. ค่า PA 

ค่านี้จะบอกถึงความสามารถในการป้องกันความดำที่เกิดขึ้นจากยูวีเอ (UVA)
เช่น PA +     สามารถป้องกันยูวีเอได้ 2-4 เท่า
       PA +++ สามารถป้องกันยูวีเอได้ 8-12 เท่า

3. Boots star rating ซึงนิยมในยุโรปและออสเตรเลีย

ค่าสูงสุดคือ 5 ดาว แสดงว่าการป้องกันแสงยูวี ดีมาก

4. Water resistant 

บางครั้งใช้ water proof, all day protection, sweat proof
หมายความว่าประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดหรือครีมกันแดดไม่เปลี่ยนแปลงเมือเปียกน้ำ จะมี water resistance คือ 40 นาทีและ very water resistance คือ 80 นาที

5. เลือกตามสภาพผิว

สำหรับคนที่ผิวมัน ควรเลือกผลิตภัณฑ์กันแดด ที่เป็นโลชั่นหรือเจล เพราะไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะ
ส่วนผิวแห้งควรเลือกแบบครีม เพราะครีมจะมีส่วนที่เป็นน้ำมันทำให้ผิวชุ่มชื้นและหลีกเลี่ยงส่วนผสมของแอลกฮอล์

6. สำรับผิวแพ้ง่าย

ควรเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดไม่มีสารเคมี (chemical agent) หรือ organic agent เช่น PABA, padimate O หรือ Oxybenzone เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์กันแดดมี inorganic agent หรือ physical agent เช่น Titanium dioxide หรือ zinc oxide

อย่างไรก็ตามนอกจากเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดหรือครีมกันแดดที่เหมาะสมแล้วการทาก็ต้องถูกต้องด้วยคือ 2 ข้อนิ้วมือต่อหน้าและคอ กรณีที่ต้องสัมผัสน้ำหรือเหงื่อออกมากก็ควรทาครีมกันแดดซ้ำบ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมง

อ้างอิงจาก
วรรณจรัส รุ่งพิสุทธิพงษ์, "แสงแดดและการดูแลผิว," ใน ศาสตร์เขตเมืองเพื่อชุมชนคนเมือง, ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล, บรรณาธิการ (กรุงเทพมหานคร, เท็กซ์แอนด์เจอร์นัลพับลิเคชั่น, 2559) หน้า 209-230.


Tuesday, May 7, 2019

ลดน้ำหนัก...ด้วยตัวเอง

การลดน้ำหนัก หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ยากบางคนพยายามควบคุมอาหารและออกกำลังกายจนลดน้ำหนักลงมาได้ตามที่ต้องการแต่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักไว้ได้ มิหนำซ้ำน้ำหนักกลับขึ้นไปมากกว่าเดิมเสียอีก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ภาวะโยโย่ (Yo-yo Effect หรือ weight cycling) การที่เราจะสามารถลดน้ำหนักและคงน้ำหนักไว้ได้นั้น เราควรเริ่มจากตระหนักก่อนว่าน้ำหนักที่เกินไปนั้นสามารถส่งผลเสียต่อตัวเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีผลกระทบทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน

เราสามารถประเมินตัวเองได้ว่าเรามีน้ำหนักเกินหรือไม่จาก
1. ดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) คือนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สำหรับคนไทย (ชาวเอเชีย) ถ้า BMI อยู่ในช่วง 18.5-22.9 ถือว่าสมส่วน 23-24.9 จัดว่าน้ำหนักเกิน และถ้ามากกว่า 25 แสดงว่าเป็นโรคอ้วน (Obesity) แล้ว


2. เส้นรอบเอวหรือเส้นรอบพุง (Waist Circumference) เพื่อบ่งบอกภาวะอ้วนลงพุงหรือภาวะที่มีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไปจนทำให้พุง ยื่นออกมาชัดเจน วิธีการวัดเส้นรอบพุงคือวัดผ่านสะดือ โดยต้องไม่เกินความสูงหารสอง เช่น ส่วงสูง 150 เซนติเมตร เส้นรอบพุงก็ไม่ควรเกิน 75 เซนติเมตร หรืออาจใช้เกณฑ์เส้นรอบเอวไม่เกิน 80  เซนติเมตรในผู้หญิงหรือ 90  เซนติเมตรในผู้ชาย


 โรคอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ข้อเข่าเสื่อม รวมถึงภาวะซึมเศร้า อาจสร้างความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมากที่สุดคือ พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอซึ่งพบร่วมกันและเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด นอกจากนี้อาจเป็นจากพันธุกรรม ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิดหรืออาการป่วยทางจิตเวช ดังนั้นถ้าไม่สามารถลดน้ำหนักได้ตามที่ตั้งใจไว้ควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อหรือโภชนบำบัด
                เมื่อเรามีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนักและตระหนักถึงผลเสียของการมีน้ำหนักที่เกินจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร บันได 6 ขั้นต่อไปนี้เป็นตัวช่วยทำให้การลดน้ำหนักสำเร็จตามเป้าหมาย เริ่มจาก
  • บันไดขั้นที่ 1 “ตั้งเป้าหมาย”
  •    โดยเริ่มจากการคำนวนน้ำหนักที่เหมาะสมสำรับตัวเองก่อน เช่น กำหนดให้ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรหรือเส้นรอบพุงน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง ทั้งนี้อาจตั้งเป้าหมายระยะสั้นก่อนก็ได้ เช่น 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวก่อนลดน้ำหนักก็ได้
  •  
  • บันไดขั้นที่ 2 “หาแรงสนับสนุน”
  •    จากสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ เช่น ประกาศว่าเราจะลดน้ำหนักนะ คนใกล้ตัวเราจะได้ให้กำลังใจหรือไม่ชวนกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรืออาจจะชวนกันออกกำลังกาย เป็นต้น
  •  
  • บันไดขั้นที่ 3 “กำหนดแนวทางลดน้ำหนักที่เหมาะสมกับตัวเอง”
  •    การควบุมอาหารนั้นมีหลายวิธี เช่น รับประทานอาหารทุกอย่างแต่ลดปริมาณลง งดอาหารที่มีไขมันสูงทุกชนิด  งดแป้งกินอาหารที่มีโปรตีนสูง หรือ อาหารแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับแต่ละคนไม่เหมือนกันทั้งในแง่รสนิยม วิถีชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน รวมถึงข้อจำกัดทางอาหารของแต่ละคน ซึ่งถ้าไม่สามารถเลือกได้ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหาร สำหรับการออกกังกายนั้นก็ขึ้นกับเวลาว่างและสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่อย่างน้อยก็ควรเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าวซึ่งในปัจจุบันเราสามารถนับก้าวได้จากโทรศัพท์มือถือ
    • พฤติกรรมการบริโภคหรือนิสัยการกินที่ดี เช่น
    • - ไม่ทานของผัดทอดหรือหนังและมันสัตว์ ยกตัวอย่างเช่นเลือกทานไข่ต้มหรือตุ๋นแทนไข่ดาวหรือเจียว ในคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงอาจทานไข่ต้มได้ถึงวันละ 3 ฟอง
    • - เลือกเครื่องดื่มอย่างฉลาดเช่นหลีกเลี่ยงชากาแฟที่มีน้ำตาลและครีมเทียม ถ้าชอบหวานให้ใช้สารให้ความหวานแทน ถ้าชอบครีมเทียมให้เปลี่ยนเป็นนมปราศจากไขมันแทน หลีกเลี่ยงการกินน้ำหวานหรือน้ำอัดลมเพื่อต้องการดับกระหายหรือทำให้สดชื่น ถ้ารู้สึกอ่อนเพลียลองดื่มน้ำเย็นๆก่อนว่าดีขึ้นหรือไม่
    • - ฝึกเคี้ยวอาหารให้ช้าลง ขณะเคี้ยวอาหารให้วางช้อนส้อมลงบนจาน
    • - เมื่อรู้สึกอยากอาหารทั้งที่ยังไม่หิว ให้หางานหรือกิจกรรมอื่นทำแทนการกิน
    • - ใช้จานหรือชามเล็กๆ ใส่อาหาร
    • - เมื่อกินอิ่มรีบลุกจากโต๊ะทันที รวมถึงการรู้จักปฏิเสธอาหารเมื่ออิ่มแล้ว
    • - เวลากินอาหารไม่ทำอะไรอย่างอื่น เช่นดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์
    • - กินอาหารเป็นมื้อๆ หลีกเลี่ยงการกินจุบจิบ อาจแปรงฟันหลังทุกมื้ออาหาร เพื่อจะได้ไม่กินอะไรอีกแล้วหลังแปรงฟัน
  • บันไดขั้นที่ 4 “ลดความเครียดและนอนหลับให้เพียงพอ”
  •    นอกจากการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วการลดความเครียดและการนอนหลับที่เพียงพอ ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการลดน้ำหนัก ความเครียดในที่นี้รวมถึงความไม่สบายใจ ความกังวล ความไม่พึงพอใจ โกรธ เกลียด และอื่นๆ แต่ละคนย่อมมีวิธีการจัดการความเครียดไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรเลือกวิธีที่ถนัดและเหมาะสมกับตนเอง นอกจากนี้ก็ควรประเมินความเครียดของตัวเอง เช่นการทำแบบวัดความเครียดของตัวเอง (Thai Perceived Stress Scale-10 หรือ T-PSS-10) เป็นแบบประเมิน 10 ข้อ เกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดของคุณในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ถ้าไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อาจปรึกษาคนใกล้ชิดที่เราไว้ใจหรือจิตแพทย์
  • บันไดขั้นที่ 5 “ประเมินตนเอง”
  •    ชั่งน้ำหนักทุกวันว่าได้ตามเป้าหมายหรือไม่  ประเมินพฤติกรรมการบริโภคว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ออกกำลังกายได้กี่นาทีต่อสัปดาห์หรือเดินได้วันละกี่ก้าว นอนหลับได้กี่ชั่วโมงต่อวัน สามารถจัดการกับความเครียดหรือไม่ การตรวจส่วนประกอบของร่างกาย (Body composition) ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าน้ำหนักที่ลดเป็นส่วนของมวลไขมัน (Fat mass) หรือ มวลกล้ามเนื้อ (Muscle mass) ในการลดน้ำหนักที่ดีนั้นควรลดส่วนที่เป็นไขมันและเพิ่มกล้ามเนื้อ เพื่อลดการอักเสบของร่างกาย ลดไขมันในเลือดและลดความดื้อต่ออินซูลิน เป็นต้น เมื่อเรามีการประเมินอย่างสม่ำเสมอเราจะทราบจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง ถ้าเรามีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ความรู้ที่ถูกต้อง แรงสนับสนุนจากคนใกล้ชิด ความสำเร็จในการลดน้ำหนักก็อยู่แค่มือเอื้อมเท่านั้น
  • บันไดขั้นที่ 6 “ถ้าคุณต้องเผชิญกับผลล้มเหลว”
  •    อย่าเพิ่งย่อท้อ ลองพิจารณาตัวเองใหม่อีกครั้งทั้งในแง่ อาหารและพฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย ความเครียดและการนอนหลับ ลองปรับทัศนคติในแง่บวก เช่น
  •  
  • ความคิดเชิงลบ
    1. ฉันทุกข์ทรมานมากกับการลดน้ำหนัก ถ้าจะทำให้สำเร็จ
    2. ฉันผิดอีกแล้ว เจ็บใจตัวเองจริงๆ
    3. กินของทอดอีกแล้ว แสดงว่าเราทนไม่ได้อีกแล้ว
    ยอมแพ้ดีกว่า
    4. คนอื่นน้ำหนักลดสัปดาห์ละ 1 – 2 กิโลกรัม
    แต่เราลงแค่ 1 – 2 ขีด
    5. คนอื่นวิ่งกัน 5 – 10 กิโลเมตร แต่เราได้แต่เดินแล้วก็เดิน



    ความคิดเชิงบวก
    1. น้ำหนักลดได้ดีมาก ไม่ได้ทรมานเลย
    2. รู้สึกผิด แต่ตั้งใจอีกครั้ง อย่าลงโทษตัวเอง
    3. เป็นโอกาสดีที่จะเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาด
    4. อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เราคือตัวเรา
     ถ้าสัปดาห์นี้ลดได้น้อย ก็ยังดีกว่าน้ำหนักเพิ่ม
    และหาข้อบกพร่องมาแก้ไขวันต่อไป
    5. ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ถ้าเดินเร็วๆก็เผาพลาญพลังงาน
    เหมือนกับวิ่งช้าๆ และไม่ปวดเข่าเหมือนวิ่ง
    แต่ถ้าเราน้ำหนักน้อยกว่านี้ก็จะวิ่งตามเขาไปได้
    เองแหละ (ถ้าอยากวิ่ง)

     อย่างไรก็ตามถ้าทำตาม 6 ขั้นตอนนี้แล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้ อย่าเพิ่งไปใช้อาหารเสริมหรือยาลดน้ำหนักที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หรือเสียเงินและเวลาโดยเปล่าประโยชน์10 ควรปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะได้แนะนำเรื่องอาหารและออกกำลังที่เหมาะสมกับแต่ละคน เพราะแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมียากินและฉีดเพื่อการลดน้ำหนัก และการผ่าตัดบายพาสกระพาะอาหาร (Roux-en-Y Gastric Bypass) การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ (Sleeve Gastrectomy) รวมถึงการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร (Gastric Balloon) ทั้งยาและการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันเพื่อให้ได้ผลดีและปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์

อ้างอิง 
https://www.nonthavej.co.th/Personalized-Weight-Loss-Plan.php



Thursday, May 2, 2019

มะเร็งปากมดลูก Cervical cancer

คือ การติดเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็ง 
ปัจจัยเสี่ยง 
1. การมีคูนอนหลายคน
2. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
3. มีบุตรหลายคน
4. มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
5. สูบบุหรี่
6. กินยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน
อาการ
- ในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการ แต่อาจตรวจพบจาก pap smear
- เลือดออกทางช่องคลอด
- เลือดออกกระปริกระปรอยระหว่างรอบเดือน
- เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวปนเลือด
- หากมะเร็งมีการลุกลาม อาจมีปัสสาวะปนเลือด อุจจาระเป็นเลือดหรือถ่ายลำบาก
การป้องกัน
- การมีคู่นอนคนเดียว ใช้ถุงยางอนามัย
- การฉีดวัคซีน HPV vaccine
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือ Pap smear

Thursday, April 18, 2019

กินอย่างไร ให้ห่างไกลเบาหวาน (How to eat for prevent diabetes mellitus)

กินอย่างไร....ให้ห่างไกลเบาหวาน


อาหารเป้็นปัจจัยทึ่สำคัญที่สุดที่สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งในแง่การป้องกันการเกิดเบาหวานและควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน หมวดอาหารที่สำคัญที่สุดคือ หมวดคาร์โบไฮเดรต ซึ่งประกอบด้วย ข้าวทุกชนิด อาหารประเภทเส้นทุกชนิดรวมถึงวุ้นเส้น ขนมปัง เผือก มัน ข้าวโพด น้ำตาลและน้ำผึ้ง ถั่วต้มเช่นถั่วเขียวต้ม ผลไม้ทุกประเภทและน้ำผลไม้ น้ำมะพร้าว สุดท้ายผักที่มีแป้งเช่น ฟักทอง แครอท หัวไชเท้า เป็นต้น

การที่เราจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้นั้นเราควรจะทำความรู้จักกับวิธีการนับปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ได้และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น กาแฟเย็น นมเย็น ชานมไข่มุข ขนมต่างๆ เป็นต้น

ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้ในแต่ละวัน 10 - 12 ส่วน/คาร์บ

1 ส่วน/1  คาร์บ คือ คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม (ข้าวเจ้า 1 ทัพพี หรือ น้ำตาล 3 ช้อนชา)

1. หมวดแป้ง 


เช่น ข้าวทุกชนิด อาหารประเภทเส้นทุกชนิดรวมถึงวุ้นเส้น ขนมปัง เผือก มัน ข้าวโพด


รูปจาก http://110.164.68.234/nutrition_6/index.php/en/2016-03-21-10-18-59

2. หมวดผลไม้


ผลไม้ทุกชนิดประมาณ 1 กำมือหรือส้ม 1 ผล น้ำผลไม้ครึ่งแก้ว (100 มิลลิลิตร)




รูปจาก http://110.164.68.234/nutrition_6/index.php/en/2016-03-21-10-18-59


3. ผักที่ให้พลังงาน


เช่น แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ เป็นต้น 1 คาร์บ เท่ากับ ฟักทอง 3 ทัพพี

Picture5

รูปจาก http://110.164.68.234/nutrition_6/index.php/en/2016-03-21-10-18-59

ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้ในแต่ละวัน 10 - 12 ส่วน/คาร์บ
ส่วนใหญ่เราจะกินอาหารวันละ 3 มื้อ และ ของว่าง 1-2 มื้อ
จึงควรกำหนดข้าว/เส้น ประมาณ 2 ส่วนหรือ2ทัพพี ต่อมืื้อ
และ ผลไม้ 1 ส่วนหรือประมาณส้ม 1 ลูกต่อมื้อ และหลีกเลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำผึ้งและน้ำตาล

ฉะนั้น หลายท่านคิดว่าจะรับประทานผลไม้แทนข้าว ต้องระมัดระวังด้วยเพราะผลไม้ก็มีคาร์โบไฮเดรต เช่นกัน

Tuesday, April 9, 2019

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodule)

ไทรอยด์โต ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ หรือ คอพอก


เมื่อเราพบว่ามีก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอและโตขึ้น มักจะได้ยินคนทักว่า เป็นโรคไทรอยด์ บ่อยๆ แต่บางครั้งก็ได้ยินหมอบอกว่า เป็นคอหอยพอกบ้าง เนื้องอกไทรอยด์บ้าง เลยไม่รู้ว่า  เป็นโรคไทรอยด์ หรือ โรคอื่นกันแน่  ความจริง ไทรอยด์ เป็นชื่อของอวัยวะ ขณะที่ คอพอก เนื้องอก หรือ มะเร็ง เป็นชื่อโรค 

ความสำคัญของก้อนที่ต่อมไทรอยด์หรือคอพอก
การที่คอโตนั้นถ้าเป็นไทรอยด์จะต้องเคลื่อนที่ตามการกลืน และอยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ และจะมีความสำคัญเมื่อก้อนในต่อมไทรอย์มีขนาดเกิน 1 เซนติเมตร (บางครั้งเกิน 0.5 เซนติเมตร) เพราะจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื่อ
(Fine Needle Aspiration หรือ FNA) เพื่อวิเคราะห์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ 


The Photo Of Goitre On Woman's Body Isolate On White Background, Windpipe, Concept with Healthcare And Medicine royalty-free stock photo Woman having her neck scanned with ultrasound royalty-free stock photo

ควรตรวจ
1. ตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง อายุรกรรมต่อมไร้ท่อ (Endocrine) ศัลยกรรม (Surgeon) หรือแพทย์ หูคอจมูก (ENT)
2. ตรวจเลือดฮอร์โมนไทรอยด์
3. ตรวจอัตราซาวด์คอ (Ultrasound of Neck) เพื่อดูว่ามีกี่ก้อนและมีต่อมน้ำเหลื่องที่คอโตหรือไม่
4. ตรวจชิ้นเนื่อ (Fine Needle Aspiration หรือ FNA) เพื่อดูว่าเป็นมะเร์็งหรือไม่
5. บางครั้งอาจมีการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Thyroid uptake and scan)

โรคที่อาจเป็นไปได้
1. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ (thyroid adenoma) พบได้ประมาณร้อยละ 20-30 
2. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษร่วมด้วย (toxic adenoma) เป็นเนื้องอกที่สามารถผลิตฮอร์โมน (ปกติ thyroid adenoma จะไม่ผลิตฮอร์โมน) พบได้ไม่บ่อย 
3. มะเร็งของต่อมไทรอยด์ (thyroid carcinoma) พบได้ร้อยละ 10-15 ในระยะเริ่มต้นจะเป็นก้อนเดี่ยว  ขนาดเล็ก และ โตขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายเป็นก้อนหลายก้อนในเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือ แพร่กระจายไปที่อื่น เช่นที่ต่อมน้ำเหลือง หรือ ที่กระดูก ฯลฯ
4. คอพอก หรือ คอหอยพอก (nodular goiter) ร้อยละ 50 - 60 ของก้อนเดี่ยวที่ต่อมไทรอยด์ มีความผิดปกติอยู่ในกลุ่มของคอหอยพอก ซึ่งในระยะเริ่มต้นจะตรวจพบลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะพบการโตขึ้นของต่อมไทรอยด์ เป็นก้อนหลายก้อน หรือ โตที่คอทั้ง ข้างได้  

แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีก้อนที่คอ ควรมาตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง และ ควรรีบมาถ้าก้อนโตเร็วมาก กลืนลำบาก เสียงแหบ หรืออาการผิดปกติอื่่นเช่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก น้ำหนักลด เป็นต้น

อ้างอิง
Fisher SB. The incidental thryroid nodule. CA Cancer J Clin. 2018;68(2):97-105.

เรียบเรียง โดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

Tuesday, April 2, 2019

สิว (Acne)

สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในวัยหนุ่มสาว ซึ่งโดยส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ


สิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน จึงพบบ่อยที่ ใบหน้า หน้าอก คอ หรือต้นแขน

สิวมีหลายระยะตั้งแต่ หัวขาวๆ ตุ่มแดง ตุ่มหนอง

สาเหตุการเกิดสิว เช่น อดนอน  ควมเครียด อาหารบางชนิด เครื่องสำอาง ยาบางชนิด เช่นยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ โรคอ้วน (obesity) โรคฮอร์โมน เช่น cushing syndrome, polycystic ovary syndrome (PCOS) เป็นต้น ดังนั้นการหาสาเหตุการเกิดสิวจึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ถ้าแก้ไขที่สาเหตุก็จะช่วยป้องกันการเกิดสิวในอนาคต

เมื่อเกิดสิวขึ้นถ้าอักเสบ อาจมีอาการเจ็บ กังวล เสียความมั่นใจ หรืออาจซึมเศร้าได้

การรักษาสิวคือการป้องกันการเกิดสิวใหม่และลดการอักเสบของรอยโรคเดิม ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการรักษา การรักษามีทั้งยาทาและยากินขึ้นกับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น บางครั้งอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

การกดสิวอาจทำโดยแพทย์ผู้รักษาเพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่ผู้ป่วยไม่ควรบีบหรือแกะสิวเองเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้น

อย่างไรก็ตามหากเป็นสิวเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมโรคผิวหนัง (Dermatologist)

อ้างอิง
Bagatin E, et al. An Bras Dermatol. 2019