Tuesday, September 17, 2019

เบาหวานหายขาดได้....จริงไหม (Diabetes Remission)

เบาหวานสามารถหายขาดได้ (Diabetes Remission) ทำได้จริงหรือ

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าเบาหวานนั้นมี 4 ประเภท คือ เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 (type 1 and type 2 diabetes), เบาหวานชนิดอื่นๆ และ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes/ GDM) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่  2 ยังไม่มีคำว่าหายขาดจากเบาหวานอย่างแท้จริง  แต่ก็เริ่มมีการใช้คำว่า หายขาดจากเบาหวาน โดยคำว่าหายขาดจากเบาหวาน (Diabetes remission) อาจหมายถึง การที่ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเช่นเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy/ DR) หรือเบาหวานลงไตและเท้า (Diabetic nephropathy and diabetic foot/diabetic neuropathy) โดยบทความนี้จะขอกล่าวถึง วิธีการหายขาดจากเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

Ozempic


  1.  เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้             ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้ยาฉีดอินซูลินทั้งในรูปแบบของปากกา (insulin pen) หรือ ปั๊ม (insulin pump) ซึ่ง เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ในต่างประเทศจะมีการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งในรูปแบบของการปลูกถ่ายตับอ่อน (pancreatic transplant) หรือเซลล์ของตับอ่อน (islet transplant) ซึ่งจะเป็นแนวทางการรักษาที่สำคัญในอนาคตที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หายขาดได้ คือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้ยา
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่มีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ทำให้อินซูลินที่มีในร่างกายไม่สามารถจัดการระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีสาเหตุจากพันธุกรรม (Genetic) การบริโภคหวานหรือแป้งมากเกินไป (Over carbohydrate eating) ขาดการออกกำลังกาย (Lack of excercise) ความอ้วน (Obesity or Overweight) ความเครียด (Stress) นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ (Lack or inadequate sleep) เป็นต้น โดยการรักษาหลักของ เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) มี 3 วิธีคือ
    1.  การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรจะเรียนรู้และปฏิบัติตาม เพราะถ้าเราควบคุมอาหารอย่างถูกวิธีก็สามารถลดยาลงได้ จนอาจจะหยุดยากินหรือยาฉีดก็เป็นได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าหายขาดจากเบาหวานหรือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลโดยไม่่ต้องใช้ยาเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามก็ควรตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c) และระดับน้ำตาล (Fasting blood sugar/ FBS) ร่วมกับการตรวจตา (Eye examination) การตรวจเท้า (Monofilament testing) และตรวจปัสสาวะ (Urine microalbumin)เป็นประจำ
    2. การใช้ยากินเพื่อรักษาเบาหวาน (Oral hypoglycemic agent) เช่น Metformin, Sulfonylurea (Gliplizide, Glimiperide), DDPIV inhibitor (Sitagliptin, linagliptin) , SGLT2 inhibitor (Dapaglifozin, Canaglifozin) เป็นต้น
    3. การใช้ยาฉีดเพื่อรักษาเบาหวาน เช่น Insulin (ชื่อการค้าเช่น Insulatard, Lantus, Tresiba) หรือ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Victoza, Trulicity, Ozempic, Wegovy) รวมทั้งยาผสมระหว่าง insulin และ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Xultophy)
  • โดยสรุปจะเห็นว่าการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ให้หายขาดนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (Dieting) โดยควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ไม่เกิน 10-12 ส่วนต่อวัน วิธีการนั้นไม่ได้ยากแต่ต้องศึกษาและเรียนรู้ ได้จากกินอย่างไร ให้ห่างไกลเบาหวาน (How to eat for prevent diabetes mellitus) อย่างอื่นที่ควรทำควบคู่ไปคือการออกกำลังกาย การลดความเครียด และการนอนหลับที่พอเพียง 
  • นอกจากนี้การลดน้ำหนักก็เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมเบาหวานมีการศึกษาพบว่าการผ่าตัดลดความอ้วนหรือ Bariatric surgery สามารถทำให้เบาหวานหายได้ เพราะฉะนั้น การลดน้ำหนักที่ดีสามารถอ่านได้ตามบทความ ลดน้ำหนัก...ด้วยตัวเอง 
  • อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญของเบาหวานคือควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
  • Diabetic Remission หรือ หายขาดจากเบาหวานก็ยังเป็นเป้าหมายที่ผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์และนักวิจัยยังคงทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธฺภาพและความปลอดภัยในระยะยาว แต่การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้มีโทษต่อร่างกายแต่ประการใด แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความต่อเนื่องเป็นสำคัญเพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอในการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)




Thursday, September 5, 2019

ยาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) ที่ใช้ได้ในประเทศไทย

เราควรใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนได้ไหม 

โรคอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ข้อเข่าเสื่อม รวมถึงภาวะซึมเศร้า อาจสร้างความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม ดังนั้นการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนย่อมส่งดีต่อร่างกายและจิตใจแน่น่อน แต่หลายครั้งที่เราพยายามลดน้ำหนักด้วยการคุมอาหารและออกกำลังกายแต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที่ ทำให้เกิดความท้อแท้บางคนถึงกับเลิกน้ำหนักไปเลยก็มี เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน สมุนไพรต่างๆที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ ในทางการแพทย์นั้นพวกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังนั้นยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนก็จะมีบทบาทในการช่วยลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะต้องพิจารณาถึงข้อบ่งใช้ (indication) และข้อห้ามในการใช้ (contraindication) ของแต่ละบุคคล โดยยาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) ที่ใช้ได้ในประเทศไทยมียาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) 3 ประเภทหลักๆ ซึ่งมีทั้งยาลดความอ้วนแบบกินและแแบบฉีด

1. Phentermine (เฟนเตอมีน); ชื่อการค้า Panbesy เป็นยากระตุ้นประสาทหรือลดความอยากอาหาร


Phentermine เป็นยาลดความอ้วนที่ใช้เสริมกับวิธีการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย phentermine จะทำหน้าที่ลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวบริเวณด้านข้างของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้มีการเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท 2 ชนิด คือ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine; NE) และ โดปามีน (dopamine; DA)ที่สมอง จึงมีผลทำให้ลดความอยากอาหารลงอย่างมาก อย่างไรก็ดีสารสื่อประสาทเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารแล้วยังส่งผลกระทบอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพชีวิตได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย มีอาการเคลิ้มฝัน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นสีผิดปกติไปจากเดิม และผลจากการเพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อจิตประสาท เช่น หงุดหงิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน และเกิดอาการติดยาได้
เมื่อรับประทานยา phentermine ติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้าได้ และอาจรับประทานยามากกว่าเดิม เนื่องจากยาไปมีผลทำให้ระดับ NE และ DA ลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะเบื่ออาหารอย่างมาก (anorexia)จนทำให้ภูมิต้านทานลดลงจากการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ซึ่งยา phentermine สามารถใช้เสริมกับการควบคุมอาหารได้ในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 หรือ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรที่มีโรคร่วมเช่นนอนกรน เบาหวาน ไขมันสูง แต่ไม่ควรใช้เกิน 3 เดือน และเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด

 2. Oristat (ออริสแตท); ชื่อการค้า Xenical ยาช่วยลดการดูดซึมของไขมัน


Orlistat เป็นยาลดความอ้วนที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ gastric lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากกระเพาะอาหารและยังยับยั้ง pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากตับอ่อน เอนไซม์เหล่านี้ทำหน้าที่ย่อยสลายไขมันจากอาหารที่อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลซึ่งมีขนาดโมเลกลุเล็กลง เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งจึงทำให้ไขมันยังคงอยู่ในลักษณะที่เป็นโมเลกุลใหญ่จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดการขับถ่ายเป็นไขมันออกทางอุจจาระ ดังนั้น orlistat จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมีอาหารที่มีไขมันอยู่เท่านั้น ไม่ว่าไขมันจะอยู่ในอาหาร นม หรือน้ำมันก็ตาม

Orlistat เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน (obesity)มักจะเริ่มใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร  ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง โดยที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้จนถึงเป้าหมาย โดยการใช้ยา orlistat จะได้ผลดีนั้นจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการเพิ่มการออกกำลังกายเสมอ

ปัจจุบันประเทศไทยมี orlistat ในรูปแบบแคปซูลขนาดความแรง 120 มิลลิกรัม โดยขนาดปกติที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง รับประทานพร้อมหรือหลังอาหารไม่เกิน 1ชั่วโมง โดยยา orlistatสามารถยับยั้งการดูดซึมไขมันได้สูงสุดที่ร้อยละ 30 ของปริมาณไขมันทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป จะเห็นว่ายังมีไขมันอีกร้อยละ 70 ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ได้หมายความว่าหากรับประทานยาเข้าไปแล้วจะสามารถรับประทานอาหารที่มีไขมันได้ไม่จำกัด นอกจากนี้การใช้ยามากกว่า 360 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของยามากขึ้นแต่อย่างใด

Orlistat มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาเอง การที่ไขมันไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึมทำให้ไขมันออกมาพร้อมอุจจาระ ดังนั้นอาการที่พบบ่อยๆ คือ มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ มีความอยากถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าเดิม ควบคุมการขับถ่ายลำบาก ปวดมวน ไม่สบายท้อง และผายลมได้ โดยมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 80 และระดับความรุนแรงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหากใช้ยาไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์

ถึงแม้ว่ายา Oristat จะดูเป็นป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่เนื่องจากราคาที่สูงและผลข้างเคียงในเรื่องของระบบขับถ่าย ดังน้น หากผู้ป่วยไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการรักษา ควรให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยา

3. Liraglutide; ชื่อการค้า Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน ยาฉีดใต้ผิวหนังช่วยลดน้ำหนักช่วยลดความอยากอาหาร


Liraglutide ที่มีชื่อการค้าว่า Victoza เป็นยาใช้รักษาเบาหวาน ซึ่งใช้ในขนาด 1.2 - 1.8 มิลลิกรัมต่อวัน แต่สำหรับการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนนั้นจะใช้ในชื่อการค้า Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน

Liraglutide เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonists ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลินหลังจากรับประทานอาหารจึงลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน และยังออกที่สมองช่วยลดความอยากอาหารจึงช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเผาผลาญในร่างกาย 
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบการรายงานได้บ่อยจากการใช้ยา Liraglutide ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องเสีย รวมถึงปฏิกิริยาคล้ายอาการแพ้ เช่น ผื่นลมพิษ เป็นต้น
ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Liraglutide ทำให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมธัยรอยด์หรือ medullary thyroid cancer ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยา Liraglutide ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิด medullary thyroid cancer อยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ หรือ ผู้ที่มีภาวะของพันธุกรรมบางอย่าง เช่น Multiple Endocrine Neoplasia syndrome type 2 เป็นต้น

ส่วนยาที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ เช่นฮอร์โมนไทรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาระบายต่างๆ จึงไม่ควรใช้เป็น
อย่างยิ่งในการลดน้ำหนักเพราะนอกจากไม่สามารถลดน้ำหนักได้แล้วยังอาจเกิดผลข้างเคียงอีกด้วย 

โดยสรุปยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนสามารถใช้ได้โดยขึ้นอยู่กับงข้อบ่งใช้ (indication) และข้อห้ามในการใช้ (contraindication) ของแต่ละบุคคล และต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ร่วมกับปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด


เรียบเรียงโดย: นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)