Wednesday, April 29, 2020

การดูแลเบาหวานช่วงโควิด-19 ระบาด

เบาหวานเป็นกลุ่มเสี่ยงจากติดเชื้อโควิด-19 เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไร



โควิด-19 (COVID-19) หรือ Coronavirus ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) และกระจายไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อหลายล้านคน ผู้เสียชีวิตมากกว่าศึกสงครามเสียอีก
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นในสถานการณ์ปกติก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การติดเชื้ออยู่แล้วทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและปรสิต เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงและเชื้อเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่น้ำตาลสูง ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้จะยิ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง
ความเสี่ยงของการเสียชีวิตในโรคโควิด-19 นั้นจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ ได้รับยากดภูมิ มีโรคประจำตัวเช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคทางระบบทางเดินหายใจเป็นต้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตหรือเกิดการติดเชื้อรุนแรงในโรคโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไปถึง 3.5 เท่า
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการล้างมือ ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้า การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แล้ว ก็ควรที่จะต้องทำ
  1. ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วมือ ไม่ให้ระดับนำ้ตาลก่อนอาหารเกิน 130 มก/ดล หรือ หลังอาหารเกิน 180 มก/ดล 
  2. ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะพวกแป้งและน้ำตาล ไม่ควรเกิน 10-12 คาร์บต่อวัน
  3. เน้นอาหารจำพวกโปรตีนเช่นเนื้อสัตว์ นม ไข่เป็นต้น 
  4. ควรรับประทานผักและผลไม้ที่หลากหลาย เพื่อจะได้วิตามินและเกลือแร่ในปริมาณที่เพียงพอ ถ้ามีภาวะขาดวิตามินหรือเกลือแร่ควรเสริมสารอาหารจำพวกเกลือแร่และวิตามิน 
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดเช่นสระว่ายน้ำหรือสนามกีฬา
  6. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ประจำปีและวัคซีนป้องกันปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย
  7. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้มีภาวะขาดน้ำ เช่นปากแห้ง คอแห้ง หน้ามืด
  8. สังเกตตัวเองถ้าสงสัยติดเขื้อโคยวิด-19 ให้โทรศัพท์ไปที่ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 1422 หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 หรือ สายด่วยโควิด-19 หมายเลขโทรศัพท์ 02-092-7222


เรียบเรียงโดยนายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

เอกสารอ้างอิง
  1. Gupta R, Ghosh A, Singh AK, Misra A. Clinical considerations for patients with diabetes in times of COVID-19 epidemic. Diabetes Metab Syndr. 2020;14(3):211–212. doi:10.1016/j.dsx.2020.03.002

Tuesday, April 28, 2020

เบาหวาน...กินทุเรียนได้ไหม



       ทุเรียนเป็นผลไม้ที่หลายต่อหลายคนชื่นชอบรวมถึงผู้ป่วยเบาหวานด้วย พอถึงเทศกาลทุเรียนทีไรก็ต้องขอชิมบ้าง เพราะทุเรียนที่อร่อยไม่ได้มีให้กินตลอดทั้งปี แถมทุเรียนบางลูกก็หอม หวาน มัน อร่อยจนต้องกินหมดลูก 
        ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินผลไม้ได้แต่ไม่ควรเกิน 2-3 คาร์บต่อวัน (1 คาร์บ = น้ำตาล 15 กรัม = ข้าว 1 ทัพพี) สำหรับทุเรียน 1 คาร์บก็ประมาณทุเรียน ขนาดกลาง 1 เม็ด ย้ำนะครับ 1 เม็ดไม่ใช่ 1 ลูกหรือ 1 พลู เพราะฉะนั้นเราสามารถกินทุเรียนได้ 2-3 เม็ดต่อวัน 
        สิ่งที่น่าแปลกใจคือทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic index ในระดับต่ำ คือทุเรียนมีค่าดัชนีน้ำตาลเพียงแค่ 49 ซึ่งต่ำกว่าแตงโมงที่มีค่าดัชนีน้ำตาลที่ 55 หรือ มะละกอที่ 58 เสียอีก (ดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 55 ถือว่า ต่ำ, ดัชนีน้ำตาลระหว่าง 55-69 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และดัชนีน้ำตาลระหว่างค่า 70 -100 ถือว่าสูง) ขนาดอาหารมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ต่ำพอดี เช่น ข้าวกล้อง ดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 55, ขนมปังโฮลวีท ค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 53, หรือแม้แต่กล้วยสุกงอมซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 52 ก็ยังมีค่าดัชนีน้ำตาลสูงกว่าทุเรียนด้วยซ้ำไป (1) มีงานศึกษาวิจัยขนาดเล็กในคนพบว่า การบริโภคทุเรียนเป็นผลดีต่อการหลั่งอินซูลิน เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นเช่นเงาะ มะม่วง สับปะรด (2) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทุเรียนมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) เช่น flavonoids (catechin และ quercetin), polyphenols และ tannins เป็นต้น ที่ช่วยทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ดีขึ้น (3)
ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ (controlled diabetes) ก็สามารถรับประทานทุเรียนแทนผลไม้อื่น แทนที่นะครับ ไม่ใช่กินทุเรียนต่อด้วยมังคุดหรือต่อด้วยส้ม ในปริมาณ 2-3 เม็ดต่อวัน หรือ 1 เม็ดต่อมื้อ โดยอาจเลือกพันธุ์ทุเรียนชะนีหรือกระดุม เพราะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าก้านยาวและหมอนทอง (ทุเรียน 100 กรัม ทุเรียนกระดุมมีคาร์บ 20.5 กรัม ทุเรียนชะนีมีคาร์บ 24.7 กรัม ทุเรียนหมอนทองมีคาร์บ 31.2 กรัม และ ทุเรียนก้านยาวมีคาร์บ 35.1 กรัม) 

สรุป ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมได้สามารถกินทุเรียนได้ 2-3 เม็ดต่อวันแทนการกินผลไม้ชนิดอื่น โดยควรเลือกเป็นทุเรียนกระดุมหรือชะนี และควบคุมอาหารอื่นๆตามปกติด้วยนะครับ

เรียบเรียงโดยนายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

เอกสารอ้างอิง
  1. Robert SD et al. Glycemic index of common Malaysian fruits. Asia Pac J Clin Nutr. 2018;17(1):35-9.
  2. Roongpisuthipong C et al. Postprandial glucose and insulin responses to various tropical fruits of equivalent carbohydrate content in non-insulin-dependent diabetes mellitus. Diabetes research and clinical practice 1991;14(2):123-31.
  3. Muhtadi A et al. Antidiabetic activity of durian(Durio Zibethinus Murr.) and Rambutan (Nephelium Lappaceum L.) fruit peels in Alloxan diabetes rats. Procedia Food Science. 2015;3:255-261.