Tuesday, September 17, 2019

เบาหวานหายขาดได้....จริงไหม (Diabetes Remission)

เบาหวานสามารถหายขาดได้ (Diabetes Remission) ทำได้จริงหรือ

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าเบาหวานนั้นมี 4 ประเภท คือ เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 (type 1 and type 2 diabetes), เบาหวานชนิดอื่นๆ และ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes/ GDM) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่  2 ยังไม่มีคำว่าหายขาดจากเบาหวานอย่างแท้จริง  แต่ก็เริ่มมีการใช้คำว่า หายขาดจากเบาหวาน โดยคำว่าหายขาดจากเบาหวาน (Diabetes remission) อาจหมายถึง การที่ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเช่นเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy/ DR) หรือเบาหวานลงไตและเท้า (Diabetic nephropathy and diabetic foot/diabetic neuropathy) โดยบทความนี้จะขอกล่าวถึง วิธีการหายขาดจากเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

Ozempic


  1.  เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้             ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้ยาฉีดอินซูลินทั้งในรูปแบบของปากกา (insulin pen) หรือ ปั๊ม (insulin pump) ซึ่ง เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ในต่างประเทศจะมีการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งในรูปแบบของการปลูกถ่ายตับอ่อน (pancreatic transplant) หรือเซลล์ของตับอ่อน (islet transplant) ซึ่งจะเป็นแนวทางการรักษาที่สำคัญในอนาคตที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หายขาดได้ คือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้ยา
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่มีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ทำให้อินซูลินที่มีในร่างกายไม่สามารถจัดการระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีสาเหตุจากพันธุกรรม (Genetic) การบริโภคหวานหรือแป้งมากเกินไป (Over carbohydrate eating) ขาดการออกกำลังกาย (Lack of excercise) ความอ้วน (Obesity or Overweight) ความเครียด (Stress) นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ (Lack or inadequate sleep) เป็นต้น โดยการรักษาหลักของ เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) มี 3 วิธีคือ
    1.  การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรจะเรียนรู้และปฏิบัติตาม เพราะถ้าเราควบคุมอาหารอย่างถูกวิธีก็สามารถลดยาลงได้ จนอาจจะหยุดยากินหรือยาฉีดก็เป็นได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าหายขาดจากเบาหวานหรือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลโดยไม่่ต้องใช้ยาเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามก็ควรตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c) และระดับน้ำตาล (Fasting blood sugar/ FBS) ร่วมกับการตรวจตา (Eye examination) การตรวจเท้า (Monofilament testing) และตรวจปัสสาวะ (Urine microalbumin)เป็นประจำ
    2. การใช้ยากินเพื่อรักษาเบาหวาน (Oral hypoglycemic agent) เช่น Metformin, Sulfonylurea (Gliplizide, Glimiperide), DDPIV inhibitor (Sitagliptin, linagliptin) , SGLT2 inhibitor (Dapaglifozin, Canaglifozin) เป็นต้น
    3. การใช้ยาฉีดเพื่อรักษาเบาหวาน เช่น Insulin (ชื่อการค้าเช่น Insulatard, Lantus, Tresiba) หรือ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Victoza, Trulicity, Ozempic, Wegovy) รวมทั้งยาผสมระหว่าง insulin และ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Xultophy)
  • โดยสรุปจะเห็นว่าการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ให้หายขาดนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (Dieting) โดยควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ไม่เกิน 10-12 ส่วนต่อวัน วิธีการนั้นไม่ได้ยากแต่ต้องศึกษาและเรียนรู้ ได้จากกินอย่างไร ให้ห่างไกลเบาหวาน (How to eat for prevent diabetes mellitus) อย่างอื่นที่ควรทำควบคู่ไปคือการออกกำลังกาย การลดความเครียด และการนอนหลับที่พอเพียง 
  • นอกจากนี้การลดน้ำหนักก็เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมเบาหวานมีการศึกษาพบว่าการผ่าตัดลดความอ้วนหรือ Bariatric surgery สามารถทำให้เบาหวานหายได้ เพราะฉะนั้น การลดน้ำหนักที่ดีสามารถอ่านได้ตามบทความ ลดน้ำหนัก...ด้วยตัวเอง 
  • อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญของเบาหวานคือควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
  • Diabetic Remission หรือ หายขาดจากเบาหวานก็ยังเป็นเป้าหมายที่ผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์และนักวิจัยยังคงทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธฺภาพและความปลอดภัยในระยะยาว แต่การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้มีโทษต่อร่างกายแต่ประการใด แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความต่อเนื่องเป็นสำคัญเพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอในการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)




1 comment: