Saturday, May 30, 2020

การลดน้ำหนักในผู้สูงอายุ

🖊 เมื่อเรามีอายุมากขึ้นการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก ก็ทำได้ยากขึ้นไม่เหมือนในคนอายุน้อย กินอะไรนิดหน่อยน้ำหนักก็ขึ้น จะให้ออกกำลังกายก็ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่า แถมยังมีโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ทำให้การควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายเป็นไปได้ยาก 

Weight Management in Elderly 

🖊แต่ในความเป็นจริงแล้วการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักก็ยังมีความจำเป็นในผู้สูงอายุเพราะน้ำหนักตัวที่มากขึ้นโดยเฉพาะน้ำหนักส่วนที่เป็นไขมันจะทำให้เกิดโรคต่างๆตามมามากมาย เช่นโรคเบาหวาน (Diabetes) โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) ไขมันพอกตับ (Fatty liver) เป็นต้น  

การลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก ในผู้สูงอายุนั้นทำได้โดยใช้หลักการสี่ข้อ (อาหาร, ออกกำลังกาย, นอนหลับ, ความเครียด) คือ
  1. ควบคุมปริมาณอาหาร โดยให้ครบห้าหมู่และเหมาะสมกับวัยและโรคประจำตัว
  2. เพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หรือออกกำลังกาย
  3. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  4. ห้ามเครียดวิตกกังวล น้อยใจหรือเสียใจ

สูตรลดน้ำหนักในผู้สูงอายุนั้นไม่ได้มีตายตัว ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรับสูตรอาหารและวิธีการ และวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (Customized Weight Management) 

10 เทคนิคการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก เบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุ ที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถทำได้ดังนี้

  1. ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตประมาณสองถึงสามส่วนต่อมื้อ เช่น ข้าว เส้น วุ้นเส้นขนมปัง ประมาณ 2 ทัพพีหรือ 10 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ ผลไม้ประมาณหนึ่งกำมือต่อมื้อเช่น ส้มหนึ่งลูก แอปเปิ้ลหนึ่งลูก ฝรั่งครึ่งลูก เป็นต้น https://medecent.blogspot.com/2020/05/carb-counting.html?m=1
  2. โปรตีน 1 ฝ่ามือหรือ 100 กรัม ต่อมื้อเช่น หมูไข่ ไก่ ปลา เต้าหู้ เป็นต้น โดยเนื้อไก่และเนื้อหมูไม่ควรติดหนังหรือติดมัน กรรมวิธีการทำอาหารควรเป็นต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง อบ ยำโดยหลีกเลี่ยงการผัดและทอด
  3. น้ำมันที่ใช้ผัดและทอดควรหลีกเลี่ยงน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมูเนื่องจากเป็นกรดไขมันอิ่มตัวทำให้มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงและก่อให้เกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
  4. ผลิตภัณฑ์ของนมควรเลือกเป็นนมจืดพร่องมันเนยหรือไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้ที่มีไขมันและน้ำตาลน้อย โยเกิร์ตหรือชีสที่มีไขมันต่ำ
  5. ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ขนมหวานหรือทอด น้ำหวาน น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะมีแคลอรี่ที่สูงและน้ำตาลที่สูงอาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้
  6. ควรลดปริมาณเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา ผงชูรสเพราะมีโซเดียมที่สูงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงและเกิดภาวะไตวายได้ในอนาค
  7. ดื่มน้ำ 2 ถึง 3 ลิตรต่อวันเพื่อให้ร่างกายมีความชุ่มชื้นและสดชื่นโดยอาจใช้เทคนิคดื่มน้ำประมาณหนึ่งถึงสองแก้วก่อนรับประทานอาหารในแต่ละมื้อเพื่อช่วยให้อิ่มไวขึ้น
  8. เพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หรือออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่นถ้ามีอาการปวดหลังหรือปวดเข่าควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทวิ่งหรือกระโดดแต่ควรออกกำลังกายประเภทว่ายน้ำหรือเดิน
  9. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการดูหน้าจอทีวีหรือโทรศัพท์ในเวลากลางคืนเพราะแสงสีน้ำเงิน (Blue light) จากหน้าจอจะทำให้สมองเรารู้สึกว่าเป็นเวลากลางวันพอถึงเวลาที่จะนอนทำให้นอนไม่หลับ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือชาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้านอนและควรงดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพราะจะทำให้ลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
  10. ห้ามเครียด วิตกกังวล น้อยใจหรือเสียใจ เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของการที่ทำให้นอนไม่หลับและบางคนพอเครียดจะทำให้บริโภคอาหารมากขึ้น นอกจากนี้นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางวิชาการว่าความเครียดทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
โดยสรุปการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุนั้นสามารถทำได้และมีประโยชน์อย่างมากเพราะทำให้โรคต่างๆลดน้อยลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

Thursday, May 21, 2020

Saxenda ปากกาลดน้ำหนัก

Saxenda หรือ Liraglutide เป็นยาฉีดในกลุ่ม GLP-1 analogue ที่ได้รับข้อบ่งใช้ ในการลดน้ำหนักควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

Saxenda



โรคอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตัก (Fatty liver) ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ข้อเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม รวมถึงภาวะซึมเศร้า อาจสร้างความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม 

ดังนั้นการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนย่อมส่งดีต่อร่างกายและจิตใจแน่นอน แต่หลายครั้งที่เราพยายามลดน้ำหนักด้วยการคุมอาหารและออกกำลังกายแต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที ทำให้เกิดความท้อแท้บางคนถึงกับเลิกน้ำหนักไปเลยก็มี ดังนั้นการใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดน้ำหนักให้ถึงเป้าหมาย 

สำหรับประเทศไทยมียาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน ประเภทหลักๆ คือ (1) Phentermine (Panbesy) เป็นยารับประทานเพื่อลดความอยากของอาหาร (2) Oristat (Xenical) เป็นยารับประทานลดการดูดซึมของไขมัน (3) Saxenda (Liraglutide) เป็นยาฉีดในกลุ่ม GLP-1 analogue ที่ได้รับข้อบ่งใช้ ในการลดน้ำหนักควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

Saxenda (Liraglutide) เป็นยาฉีดในชั้นไขมันในรูปแบบปากกา ที่ใช้ในการลดน้ำหนักนั้นต้องใช้ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวันจึงจะได้ผลในการลดน้ำหนัก 5-10% ของน้ำหนักเดิม เป็นเวลาอย่าน้อย 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน ดังนั้นถ้าใช้ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda แล้วน้ำหนักลดไม่ถึง 5% ของน้ำหนักตั้งต้นควรหยุดฉีดยาเพราะนอกจากสิ้นเปลืองแล้วยังเจ็บตัวอีกด้วย 

การใช้ยาฉีด Saxenda ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทางโภชนบำบัด หรือ อายุรแพทย์ต่อมไร่ท่อ ไม่ควรหาซื้อยามาฉีดเองเพราะอาจไม่ได้ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ ข้อบ่งใช้ยา Saxenda คือ
(1) มีดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) เกิน 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร (2) มีดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) เกิน 27 กิโลกรัม/ตารางเมตร ร่วมกับโรคร่วมเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น 

ข้อห้ามในการใช้ ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda  เช่น ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ (Medullary Thyroid Cancer) หรือ Multiple Endocrine Neoplasia syndrome Type 2 (MEN 2) 

ผลข้างเคียงของ ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda 
- พบได้มากกว่า 10% เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ น้ำตาลต่ำ(ในกรณีใช้ร่วมกับยาเบาหวานบางชนิด)
- พบได้ 1-10% เช่น ไม่อยากอาหาร เวียนหัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องอืด กรดไหลย้อน เวียนหัว ผายลมบ่อย ปากแห้ง นอนไม่หลับ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในทางเดินอาหาร บวมแดงอักเสบบริเวณที่ฉีดยา วิตกกังวลเพิ่มขึ้น
- พบได้น้อยกว่า 1% ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) นิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis) มะเร็งไทรอยด์ทั้งชนิด Medullary และ Papillary มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ผื่นแพ้คัน ไตวายเนื่องจากภาวะขาดน้ำจากการอาเจียนหรือท้องเสีย 

การเก็บรักษาปากกาลดน้ำหนัก Saxenda 
หากยังไม่เปิดใช้ให้เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ( 2 องศาเซลเซียส ถึง 8 องศาเซลเซียส) ห้ามเก็บบริเวณช่องแช่แข็ง ยาที่ยังไม่เปิดใช้มีอายุเท่ากับวันหมดอายุที่ระบุบนปสดกา
หลังจากเปิดใช้ครั้งแรกให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสหรือเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ (2 องศาเซลเซียส ถึง 8 องศาเซลเซียส) ห้ามแช่แข็งและสวมปลอกปากกาไว้เพื่อป้องกันแสง ยาที่เปิดใช้แล้วมีอายุหนึ่งเดือน

วิธีการใช้ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda 
ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda เป็นยาฉีดวันละครั้ง เวลาใดก็ได้โดยไม่ขึ้นกับมื้ออาหาร โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ควรฉีดยา Saxenda เวลาเดิมทุกวัน
บริเวณที่เหมาะสมในการฉีดยาที่ดีที่สุดคือหน้าท้องโดยฉีดห่างจากรอบสะดืออย่างน้อย 2 นิ้วมือหรือ 3 เซนติเมตร การดูดซึมที่หน้าท้องจะเร็วกว่าที่ต้นแขนต้นขาและก้นตามลำดับ
ควรเปลี่ยนตำแหน่งที่ฉีดโดยเว้นระยะประมาณ 2 นิ้วมือในบริเวณเดิมและกลับมาฉีดตำแหน่งเดิมได้เมื่อพ้น 4-8 สัปดาห์ไปแล้วเนื่องจากการฉีดูซ้ำตำแหน่งเดิมบ่อยครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกันอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยาเป็นก้อนนูนแข็งหรือรอยบุ๋ม ไม่ควรย้ายบริเวณที่ฉีดยาทุกวันเช่นย้ายจากหน้าท้องไปต้นแขนหรือต้นขาเพราะจะทำให้เวลาในการดูดซึมยาแตกต่างกันและไม่ควรนวดหรือประคบน้ำร้อนบริเวณที่ฉีดยา



เพื่อบรรเทาผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารเช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ควรเริ่มฉีดยาด้วยขนาด 0.6 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นจึงเพิ่มขนาดยาเป็น 1.2, 1.8 และ 2.4 มิลลิกรัมขนาดละ 1 สัปดาห์  Saxenda 3 มิลลิกรัมต่อวันจะเป็นขนาดที่ได้ผลดีต่อการลดน้ำหนัก ควรตั้งควรตั้งเป้าหมายว่าถ้าฉีดยา Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน ควรได้น้ำหนักลดลง 5-10% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้นในเวลา 12 สัปดาห์ ถ้าไม่ได้ผลตามเป้าหมายควรพิจารณาหยุดใช้ยา Saxenda

เรียบเรียงโดย
นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)





Saturday, May 9, 2020

นับคาร์บ Carb counting

การนับคาร์โบไฮเดรตในผู้ป่วยเบาหวาน
Carb Counting for Diabetes

การบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานถ้าต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ต้องรู้จักและควบคุมปริมาณอาหารจำพวกนี้ให้ได้ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ในเบาหวานชนิดที่ 1 นี้จะไม่สามารถสร้างอินซูลินเองได้ จึงต้องพึ่งพาอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 
ปริมาณคาร์บในแต่ละมื้ออาหารจะเป็นตัวกำหนดปริมาณอินซูลินที่ต้องฉีดในแต่ละมื้ออาหาร  สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) หรือในคนทั่วไป การควบคุมคาร์บก็ช่วยในการคุมระดับน้ำตาลและยังช่วยให้สุขภาพดีอีกด้วย ในแต่ละวันควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 10 ถึง 12 คาร์บต่อวัน  หัวใจสำคัญของการนับคาร์โบไฮเดรตคือหนึ่งต้องรู้ว่าอะไรคือคาร์โบไฮเดรต สองอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตหนึ่งส่วนมีปริมาณเท่าไร สามต้องรู้วิธีการอ่านฉลากบริโภคซึ่งมีรายละเอียดดังนี้




1. คาร์บมีในอาหารประเภทไหน

1.1 หมวดข้าว เส้น ขนมปัง เช่นเข้าเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เส้นใหญ่ เส้นเล็ก บะหมี่ เส้นหมี่ขนมจีน เส้นสปาเกตตี้ มะกะโรนี ขนมปังแผ่น 
ขนมปังโฮวี แคร็กเกอร์ เป็นต้น

1.2 หมวดเผือก มัน ข้าวโพด และถั่วต้มทุกประเภท

1.3 หมวดผลไม้ทุกชนิดและน้ำผลไม้ น้ำส้ม น้ำแตงโมน้ำมะพร้าว

1.4 หมวดผักที่ให้พลังงาน (ผักประเภท ข) แครอทฟักทอง หัวไชเท้า หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโครี

1.5 นมและผลิตภัณฑ์ของนม นมวัว นมแพะ นมถั่ว น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง นมข้าวโพด โยเกิร์ต




1.6 น้ำตาล น้ำผึ้งและน้ำหวาน



2. อาหาร 1 คาร์บคือเท่าไหร่

1 คาร์บเท่ากับคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม หรือน้ำตาลทราย 3 ช้อนชา ปริมาณ 1 คาร์บตามอาหารหมวกต่างๆ เช่น

1.1 หมวดข้าว เส้น ขนมปัง
1 คาร์บเท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพีหรือ5 ช้อนโต๊ะ ข้าวเหนียวครึ่งทัพพี เส้นทุกประเภท 1 ทัพพีหรือ5 ช้อนโต๊ะ ขนมปัง 1 แผ่น แครกเกอร์ 6 แผ่น

1.2 หมวดเผือก มัน ข้าวโพด และถั่วต้ม
1 คาร์บเท่ากับเผือก มัน ถั่วต้ม 1 ทัพพีหรือ5 ช้อนโต๊ะ ข้าวโพดครึ่งฝัก

1.3 หมวดผลไม้ทุกชนิดและน้ำผลไม้
1 คาร์บเท่ากับ ผลไม้ขนาดเท่ากำมือ เช่น 
- กล้วยหอม ฝรั่ง แก้วมังกร มะม่วง ครึ่งผล 
- กล้วยน้ำว้า ส้ม แอปเปิ้ล หนึ่งผล
- ขนุน มะขามหวาน 2 ชิ้น
- มังคุด เงาะ พุทรา 4 ผล
- ลองกอง ลิ้นจี่ ลำไย 5-6 ผล
- มะละกอ สัปปะรด แตงโม 6-8 ชิ้นคำ
- น้ำผลไม้ ครึ่งแก้วประมาณ 100 มิลลิลิตร

1.4 หมวดผักที่ให้พลังงาน (ผักประเภท ข)
1 คาร์บเท่ากับ ฟักทอง แครอท ถั่วงอก 3 ทัพพี

1.5 นมและผลิตภัณฑ์ของนม
1 คาร์บเท่ากับนมจืด 1 แก้ว โยเกิร์ต 1 ถ้วย

1.6 น้ำตาล น้ำผึ้งและน้ำหวาน
1 คาร์บเท่ากับ น้ำตาลหนึ่งช้อนโต๊ะ (สามช้อนชา) น้ำผึ้งหนึ่งช้อนโต๊ะ น้ำหวานหนึ่งช้อนโต๊ะ

3. อ่านฉลากโภชนาการ

การอ่านฉลากโภชนาการนั้นควรอ่านที่คาร์โบไฮเดรตกี่กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คาร์โบไฮเดรตหนึ่งส่วน (หนึ่งคาร์บ) เท่าคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม 

ตัวอย่างที่หนึ่ง ซีเรียลอาหารเช้าหนึ่งกล่องมีห้าหน่วยบริโภคหนึ่งหน่วยบริโภคมีคาร์โบไฮเดรตสองส่วน
ดังนั้นหนึ่งกล่องจะมีคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 10 ส่วน (5หน่วยบริโภค x 2 คาร์บ)





ตัอย่างที่สอง ทุเรียนกวนหนึ่งแท่งน้ำหนักสุทธิ 100 กรัมมี 17 หน่วยบริโภคหนึ่งหน่วยบริโภคมีคาร์โบไฮเดรต 19 กรัม ดังนั้นทุเรียนกวนหนึ่งแท่งมีคาร์โบไฮเดรต 323 กรัมหรือประมาณคาร์โบไฮเดรต 22 ส่วน (22คาร์บ) 
ถ้าเรากินทุเรียนกวนหนึ่งแท่งจนหมดแสดงว่าเราได้คาร์โบไฮเดรต เท่ากับสองวันเชียว




โดยสรุป การนับคาร์โบไฮเดรตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่งและสองรวมถึงคนทั่วไปที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อป้องกันการเกิดเบาหวานในอนาคตโดยควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตวันละ 10 ถึง 12 ส่วนต่อวัน อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเช่นข้าว เส้น ขนมปัง ผลไม้ทุกชนิด รวมถึงเผือกมันข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผักใบไม่จำเป็นต้องนับคาร์โบไฮเดรต

เรียบเรียงโดย
นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

Wednesday, April 29, 2020

การดูแลเบาหวานช่วงโควิด-19 ระบาด

เบาหวานเป็นกลุ่มเสี่ยงจากติดเชื้อโควิด-19 เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไร



โควิด-19 (COVID-19) หรือ Coronavirus ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) และกระจายไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อหลายล้านคน ผู้เสียชีวิตมากกว่าศึกสงครามเสียอีก
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นในสถานการณ์ปกติก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การติดเชื้ออยู่แล้วทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและปรสิต เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงและเชื้อเจริญเติบโตได้ดีในภาวะที่น้ำตาลสูง ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้จะยิ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง
ความเสี่ยงของการเสียชีวิตในโรคโควิด-19 นั้นจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ ได้รับยากดภูมิ มีโรคประจำตัวเช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคทางระบบทางเดินหายใจเป็นต้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตหรือเกิดการติดเชื้อรุนแรงในโรคโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไปถึง 3.5 เท่า
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการล้างมือ ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้า การใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แล้ว ก็ควรที่จะต้องทำ
  1. ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วมือ ไม่ให้ระดับนำ้ตาลก่อนอาหารเกิน 130 มก/ดล หรือ หลังอาหารเกิน 180 มก/ดล 
  2. ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะพวกแป้งและน้ำตาล ไม่ควรเกิน 10-12 คาร์บต่อวัน
  3. เน้นอาหารจำพวกโปรตีนเช่นเนื้อสัตว์ นม ไข่เป็นต้น 
  4. ควรรับประทานผักและผลไม้ที่หลากหลาย เพื่อจะได้วิตามินและเกลือแร่ในปริมาณที่เพียงพอ ถ้ามีภาวะขาดวิตามินหรือเกลือแร่ควรเสริมสารอาหารจำพวกเกลือแร่และวิตามิน 
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดเช่นสระว่ายน้ำหรือสนามกีฬา
  6. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ประจำปีและวัคซีนป้องกันปอดติดเชื้อจากแบคทีเรีย
  7. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้มีภาวะขาดน้ำ เช่นปากแห้ง คอแห้ง หน้ามืด
  8. สังเกตตัวเองถ้าสงสัยติดเขื้อโคยวิด-19 ให้โทรศัพท์ไปที่ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 1422 หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 หรือ สายด่วยโควิด-19 หมายเลขโทรศัพท์ 02-092-7222


เรียบเรียงโดยนายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

เอกสารอ้างอิง
  1. Gupta R, Ghosh A, Singh AK, Misra A. Clinical considerations for patients with diabetes in times of COVID-19 epidemic. Diabetes Metab Syndr. 2020;14(3):211–212. doi:10.1016/j.dsx.2020.03.002

Tuesday, April 28, 2020

เบาหวาน...กินทุเรียนได้ไหม



       ทุเรียนเป็นผลไม้ที่หลายต่อหลายคนชื่นชอบรวมถึงผู้ป่วยเบาหวานด้วย พอถึงเทศกาลทุเรียนทีไรก็ต้องขอชิมบ้าง เพราะทุเรียนที่อร่อยไม่ได้มีให้กินตลอดทั้งปี แถมทุเรียนบางลูกก็หอม หวาน มัน อร่อยจนต้องกินหมดลูก 
        ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินผลไม้ได้แต่ไม่ควรเกิน 2-3 คาร์บต่อวัน (1 คาร์บ = น้ำตาล 15 กรัม = ข้าว 1 ทัพพี) สำหรับทุเรียน 1 คาร์บก็ประมาณทุเรียน ขนาดกลาง 1 เม็ด ย้ำนะครับ 1 เม็ดไม่ใช่ 1 ลูกหรือ 1 พลู เพราะฉะนั้นเราสามารถกินทุเรียนได้ 2-3 เม็ดต่อวัน 
        สิ่งที่น่าแปลกใจคือทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic index ในระดับต่ำ คือทุเรียนมีค่าดัชนีน้ำตาลเพียงแค่ 49 ซึ่งต่ำกว่าแตงโมงที่มีค่าดัชนีน้ำตาลที่ 55 หรือ มะละกอที่ 58 เสียอีก (ดัชนีน้ำตาลต่ำกว่า 55 ถือว่า ต่ำ, ดัชนีน้ำตาลระหว่าง 55-69 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และดัชนีน้ำตาลระหว่างค่า 70 -100 ถือว่าสูง) ขนาดอาหารมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ต่ำพอดี เช่น ข้าวกล้อง ดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 55, ขนมปังโฮลวีท ค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 53, หรือแม้แต่กล้วยสุกงอมซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ที่ 52 ก็ยังมีค่าดัชนีน้ำตาลสูงกว่าทุเรียนด้วยซ้ำไป (1) มีงานศึกษาวิจัยขนาดเล็กในคนพบว่า การบริโภคทุเรียนเป็นผลดีต่อการหลั่งอินซูลิน เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นเช่นเงาะ มะม่วง สับปะรด (2) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทุเรียนมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) เช่น flavonoids (catechin และ quercetin), polyphenols และ tannins เป็นต้น ที่ช่วยทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ดีขึ้น (3)
ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ (controlled diabetes) ก็สามารถรับประทานทุเรียนแทนผลไม้อื่น แทนที่นะครับ ไม่ใช่กินทุเรียนต่อด้วยมังคุดหรือต่อด้วยส้ม ในปริมาณ 2-3 เม็ดต่อวัน หรือ 1 เม็ดต่อมื้อ โดยอาจเลือกพันธุ์ทุเรียนชะนีหรือกระดุม เพราะมีคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าก้านยาวและหมอนทอง (ทุเรียน 100 กรัม ทุเรียนกระดุมมีคาร์บ 20.5 กรัม ทุเรียนชะนีมีคาร์บ 24.7 กรัม ทุเรียนหมอนทองมีคาร์บ 31.2 กรัม และ ทุเรียนก้านยาวมีคาร์บ 35.1 กรัม) 

สรุป ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมได้สามารถกินทุเรียนได้ 2-3 เม็ดต่อวันแทนการกินผลไม้ชนิดอื่น โดยควรเลือกเป็นทุเรียนกระดุมหรือชะนี และควบคุมอาหารอื่นๆตามปกติด้วยนะครับ

เรียบเรียงโดยนายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

เอกสารอ้างอิง
  1. Robert SD et al. Glycemic index of common Malaysian fruits. Asia Pac J Clin Nutr. 2018;17(1):35-9.
  2. Roongpisuthipong C et al. Postprandial glucose and insulin responses to various tropical fruits of equivalent carbohydrate content in non-insulin-dependent diabetes mellitus. Diabetes research and clinical practice 1991;14(2):123-31.
  3. Muhtadi A et al. Antidiabetic activity of durian(Durio Zibethinus Murr.) and Rambutan (Nephelium Lappaceum L.) fruit peels in Alloxan diabetes rats. Procedia Food Science. 2015;3:255-261.

Tuesday, September 17, 2019

เบาหวานหายขาดได้....จริงไหม (Diabetes Remission)

เบาหวานสามารถหายขาดได้ (Diabetes Remission) ทำได้จริงหรือ

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าเบาหวานนั้นมี 4 ประเภท คือ เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 (type 1 and type 2 diabetes), เบาหวานชนิดอื่นๆ และ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes/ GDM) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเบาหวานชนิดที่  2 ยังไม่มีคำว่าหายขาดจากเบาหวานอย่างแท้จริง  แต่ก็เริ่มมีการใช้คำว่า หายขาดจากเบาหวาน โดยคำว่าหายขาดจากเบาหวาน (Diabetes remission) อาจหมายถึง การที่ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเช่นเบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy/ DR) หรือเบาหวานลงไตและเท้า (Diabetic nephropathy and diabetic foot/diabetic neuropathy) โดยบทความนี้จะขอกล่าวถึง วิธีการหายขาดจากเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2

Ozempic


  1.  เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้             ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้ยาฉีดอินซูลินทั้งในรูปแบบของปากกา (insulin pen) หรือ ปั๊ม (insulin pump) ซึ่ง เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ในต่างประเทศจะมีการรักษาโดยการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งในรูปแบบของการปลูกถ่ายตับอ่อน (pancreatic transplant) หรือเซลล์ของตับอ่อน (islet transplant) ซึ่งจะเป็นแนวทางการรักษาที่สำคัญในอนาคตที่จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หายขาดได้ คือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้ยา
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่มีภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ทำให้อินซูลินที่มีในร่างกายไม่สามารถจัดการระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีสาเหตุจากพันธุกรรม (Genetic) การบริโภคหวานหรือแป้งมากเกินไป (Over carbohydrate eating) ขาดการออกกำลังกาย (Lack of excercise) ความอ้วน (Obesity or Overweight) ความเครียด (Stress) นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ (Lack or inadequate sleep) เป็นต้น โดยการรักษาหลักของ เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) มี 3 วิธีคือ
    1.  การควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญและเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรจะเรียนรู้และปฏิบัติตาม เพราะถ้าเราควบคุมอาหารอย่างถูกวิธีก็สามารถลดยาลงได้ จนอาจจะหยุดยากินหรือยาฉีดก็เป็นได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าหายขาดจากเบาหวานหรือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลโดยไม่่ต้องใช้ยาเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามก็ควรตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c) และระดับน้ำตาล (Fasting blood sugar/ FBS) ร่วมกับการตรวจตา (Eye examination) การตรวจเท้า (Monofilament testing) และตรวจปัสสาวะ (Urine microalbumin)เป็นประจำ
    2. การใช้ยากินเพื่อรักษาเบาหวาน (Oral hypoglycemic agent) เช่น Metformin, Sulfonylurea (Gliplizide, Glimiperide), DDPIV inhibitor (Sitagliptin, linagliptin) , SGLT2 inhibitor (Dapaglifozin, Canaglifozin) เป็นต้น
    3. การใช้ยาฉีดเพื่อรักษาเบาหวาน เช่น Insulin (ชื่อการค้าเช่น Insulatard, Lantus, Tresiba) หรือ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Victoza, Trulicity, Ozempic, Wegovy) รวมทั้งยาผสมระหว่าง insulin และ GLP-1 agonist (ชื่อการค้าเช่น Xultophy)
  • โดยสรุปจะเห็นว่าการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ให้หายขาดนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (Dieting) โดยควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้ไม่เกิน 10-12 ส่วนต่อวัน วิธีการนั้นไม่ได้ยากแต่ต้องศึกษาและเรียนรู้ ได้จากกินอย่างไร ให้ห่างไกลเบาหวาน (How to eat for prevent diabetes mellitus) อย่างอื่นที่ควรทำควบคู่ไปคือการออกกำลังกาย การลดความเครียด และการนอนหลับที่พอเพียง 
  • นอกจากนี้การลดน้ำหนักก็เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมเบาหวานมีการศึกษาพบว่าการผ่าตัดลดความอ้วนหรือ Bariatric surgery สามารถทำให้เบาหวานหายได้ เพราะฉะนั้น การลดน้ำหนักที่ดีสามารถอ่านได้ตามบทความ ลดน้ำหนัก...ด้วยตัวเอง 
  • อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญของเบาหวานคือควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายและไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
  • Diabetic Remission หรือ หายขาดจากเบาหวานก็ยังเป็นเป้าหมายที่ผู้ป่วยเบาหวาน แพทย์และนักวิจัยยังคงทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธฺภาพและความปลอดภัยในระยะยาว แต่การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้มีโทษต่อร่างกายแต่ประการใด แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและความต่อเนื่องเป็นสำคัญเพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นความต่อเนื่อง ความสม่ำเสมอในการควบคุมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)




Thursday, September 5, 2019

ยาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) ที่ใช้ได้ในประเทศไทย

เราควรใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนได้ไหม 

โรคอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ข้อเข่าเสื่อม รวมถึงภาวะซึมเศร้า อาจสร้างความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม ดังนั้นการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนย่อมส่งดีต่อร่างกายและจิตใจแน่น่อน แต่หลายครั้งที่เราพยายามลดน้ำหนักด้วยการคุมอาหารและออกกำลังกายแต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที่ ทำให้เกิดความท้อแท้บางคนถึงกับเลิกน้ำหนักไปเลยก็มี เริ่มมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน สมุนไพรต่างๆที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ ในทางการแพทย์นั้นพวกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ ยังไม่มีข้อมูลมากพอทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังนั้นยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนก็จะมีบทบาทในการช่วยลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มใช้ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะต้องพิจารณาถึงข้อบ่งใช้ (indication) และข้อห้ามในการใช้ (contraindication) ของแต่ละบุคคล โดยยาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) ที่ใช้ได้ในประเทศไทยมียาลดน้ำหนัก (ยาลดความอ้วน) 3 ประเภทหลักๆ ซึ่งมีทั้งยาลดความอ้วนแบบกินและแแบบฉีด

1. Phentermine (เฟนเตอมีน); ชื่อการค้า Panbesy เป็นยากระตุ้นประสาทหรือลดความอยากอาหาร


Phentermine เป็นยาลดความอ้วนที่ใช้เสริมกับวิธีการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดย phentermine จะทำหน้าที่ลดการทำงานของศูนย์ควบคุมความหิวบริเวณด้านข้างของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้มีการเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท 2 ชนิด คือ นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine; NE) และ โดปามีน (dopamine; DA)ที่สมอง จึงมีผลทำให้ลดความอยากอาหารลงอย่างมาก อย่างไรก็ดีสารสื่อประสาทเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารแล้วยังส่งผลกระทบอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพชีวิตได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ กระวนกระวาย มีอาการเคลิ้มฝัน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปากแห้ง เหงื่อออก คลื่นไส้ ท้องผูก มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นสีผิดปกติไปจากเดิม และผลจากการเพิ่มสารสื่อประสาทโดปามีนอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อจิตประสาท เช่น หงุดหงิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน และเกิดอาการติดยาได้
เมื่อรับประทานยา phentermine ติดต่อกันไประยะหนึ่ง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้าได้ และอาจรับประทานยามากกว่าเดิม เนื่องจากยาไปมีผลทำให้ระดับ NE และ DA ลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะเบื่ออาหารอย่างมาก (anorexia)จนทำให้ภูมิต้านทานลดลงจากการขาดสารอาหาร ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

ซึ่งยา phentermine สามารถใช้เสริมกับการควบคุมอาหารได้ในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 หรือ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตรที่มีโรคร่วมเช่นนอนกรน เบาหวาน ไขมันสูง แต่ไม่ควรใช้เกิน 3 เดือน และเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด

 2. Oristat (ออริสแตท); ชื่อการค้า Xenical ยาช่วยลดการดูดซึมของไขมัน


Orlistat เป็นยาลดความอ้วนที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเอนไซม์ gastric lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากกระเพาะอาหารและยังยับยั้ง pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากตับอ่อน เอนไซม์เหล่านี้ทำหน้าที่ย่อยสลายไขมันจากอาหารที่อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ให้กลายเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลซึ่งมีขนาดโมเลกลุเล็กลง เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งจึงทำให้ไขมันยังคงอยู่ในลักษณะที่เป็นโมเลกุลใหญ่จึงไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดการขับถ่ายเป็นไขมันออกทางอุจจาระ ดังนั้น orlistat จะออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อมีอาหารที่มีไขมันอยู่เท่านั้น ไม่ว่าไขมันจะอยู่ในอาหาร นม หรือน้ำมันก็ตาม

Orlistat เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน (obesity)มักจะเริ่มใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 กิโลกรัมต่อตารางเมตร  ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเลือดสูง โดยที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้จนถึงเป้าหมาย โดยการใช้ยา orlistat จะได้ผลดีนั้นจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและการเพิ่มการออกกำลังกายเสมอ

ปัจจุบันประเทศไทยมี orlistat ในรูปแบบแคปซูลขนาดความแรง 120 มิลลิกรัม โดยขนาดปกติที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง รับประทานพร้อมหรือหลังอาหารไม่เกิน 1ชั่วโมง โดยยา orlistatสามารถยับยั้งการดูดซึมไขมันได้สูงสุดที่ร้อยละ 30 ของปริมาณไขมันทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป จะเห็นว่ายังมีไขมันอีกร้อยละ 70 ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงไม่ได้หมายความว่าหากรับประทานยาเข้าไปแล้วจะสามารถรับประทานอาหารที่มีไขมันได้ไม่จำกัด นอกจากนี้การใช้ยามากกว่า 360 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของยามากขึ้นแต่อย่างใด

Orlistat มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากกลไกการออกฤทธิ์ของยาเอง การที่ไขมันไม่ถูกย่อยและไม่ถูกดูดซึมทำให้ไขมันออกมาพร้อมอุจจาระ ดังนั้นอาการที่พบบ่อยๆ คือ มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ มีความอยากถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าเดิม ควบคุมการขับถ่ายลำบาก ปวดมวน ไม่สบายท้อง และผายลมได้ โดยมักจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 80 และระดับความรุนแรงก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นหากใช้ยาไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์

ถึงแม้ว่ายา Oristat จะดูเป็นป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่เนื่องจากราคาที่สูงและผลข้างเคียงในเรื่องของระบบขับถ่าย ดังน้น หากผู้ป่วยไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการรักษา ควรให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยา

3. Liraglutide; ชื่อการค้า Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน ยาฉีดใต้ผิวหนังช่วยลดน้ำหนักช่วยลดความอยากอาหาร


Liraglutide ที่มีชื่อการค้าว่า Victoza เป็นยาใช้รักษาเบาหวาน ซึ่งใช้ในขนาด 1.2 - 1.8 มิลลิกรัมต่อวัน แต่สำหรับการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนนั้นจะใช้ในชื่อการค้า Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน

Liraglutide เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) receptor agonists ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลินหลังจากรับประทานอาหารจึงลดระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน และยังออกที่สมองช่วยลดความอยากอาหารจึงช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเผาผลาญในร่างกาย 
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่พบการรายงานได้บ่อยจากการใช้ยา Liraglutide ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และท้องเสีย รวมถึงปฏิกิริยาคล้ายอาการแพ้ เช่น ผื่นลมพิษ เป็นต้น
ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Liraglutide ทำให้เกิดเนื้องอกที่ต่อมธัยรอยด์หรือ medullary thyroid cancer ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยา Liraglutide ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิด medullary thyroid cancer อยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ หรือ ผู้ที่มีภาวะของพันธุกรรมบางอย่าง เช่น Multiple Endocrine Neoplasia syndrome type 2 เป็นต้น

ส่วนยาที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ เช่นฮอร์โมนไทรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาระบายต่างๆ จึงไม่ควรใช้เป็น
อย่างยิ่งในการลดน้ำหนักเพราะนอกจากไม่สามารถลดน้ำหนักได้แล้วยังอาจเกิดผลข้างเคียงอีกด้วย 

โดยสรุปยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนสามารถใช้ได้โดยขึ้นอยู่กับงข้อบ่งใช้ (indication) และข้อห้ามในการใช้ (contraindication) ของแต่ละบุคคล และต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ร่วมกับปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อ หรือโภชนวิทยา จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด


เรียบเรียงโดย: นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)