Saturday, May 30, 2020

การลดน้ำหนักในผู้สูงอายุ

🖊 เมื่อเรามีอายุมากขึ้นการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก ก็ทำได้ยากขึ้นไม่เหมือนในคนอายุน้อย กินอะไรนิดหน่อยน้ำหนักก็ขึ้น จะให้ออกกำลังกายก็ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่า แถมยังมีโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ทำให้การควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกายเป็นไปได้ยาก 

Weight Management in Elderly 

🖊แต่ในความเป็นจริงแล้วการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักก็ยังมีความจำเป็นในผู้สูงอายุเพราะน้ำหนักตัวที่มากขึ้นโดยเฉพาะน้ำหนักส่วนที่เป็นไขมันจะทำให้เกิดโรคต่างๆตามมามากมาย เช่นโรคเบาหวาน (Diabetes) โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (OSA) ไขมันพอกตับ (Fatty liver) เป็นต้น  

การลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก ในผู้สูงอายุนั้นทำได้โดยใช้หลักการสี่ข้อ (อาหาร, ออกกำลังกาย, นอนหลับ, ความเครียด) คือ
  1. ควบคุมปริมาณอาหาร โดยให้ครบห้าหมู่และเหมาะสมกับวัยและโรคประจำตัว
  2. เพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หรือออกกำลังกาย
  3. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  4. ห้ามเครียดวิตกกังวล น้อยใจหรือเสียใจ

สูตรลดน้ำหนักในผู้สูงอายุนั้นไม่ได้มีตายตัว ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรับสูตรอาหารและวิธีการ และวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (Customized Weight Management) 

10 เทคนิคการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก เบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุ ที่ไม่มีโรคประจำตัวสามารถทำได้ดังนี้

  1. ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตประมาณสองถึงสามส่วนต่อมื้อ เช่น ข้าว เส้น วุ้นเส้นขนมปัง ประมาณ 2 ทัพพีหรือ 10 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ ผลไม้ประมาณหนึ่งกำมือต่อมื้อเช่น ส้มหนึ่งลูก แอปเปิ้ลหนึ่งลูก ฝรั่งครึ่งลูก เป็นต้น https://medecent.blogspot.com/2020/05/carb-counting.html?m=1
  2. โปรตีน 1 ฝ่ามือหรือ 100 กรัม ต่อมื้อเช่น หมูไข่ ไก่ ปลา เต้าหู้ เป็นต้น โดยเนื้อไก่และเนื้อหมูไม่ควรติดหนังหรือติดมัน กรรมวิธีการทำอาหารควรเป็นต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง อบ ยำโดยหลีกเลี่ยงการผัดและทอด
  3. น้ำมันที่ใช้ผัดและทอดควรหลีกเลี่ยงน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมูเนื่องจากเป็นกรดไขมันอิ่มตัวทำให้มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงและก่อให้เกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
  4. ผลิตภัณฑ์ของนมควรเลือกเป็นนมจืดพร่องมันเนยหรือไขมันต่ำ น้ำเต้าหู้ที่มีไขมันและน้ำตาลน้อย โยเกิร์ตหรือชีสที่มีไขมันต่ำ
  5. ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ขนมหวานหรือทอด น้ำหวาน น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะมีแคลอรี่ที่สูงและน้ำตาลที่สูงอาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้
  6. ควรลดปริมาณเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา ผงชูรสเพราะมีโซเดียมที่สูงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงและเกิดภาวะไตวายได้ในอนาค
  7. ดื่มน้ำ 2 ถึง 3 ลิตรต่อวันเพื่อให้ร่างกายมีความชุ่มชื้นและสดชื่นโดยอาจใช้เทคนิคดื่มน้ำประมาณหนึ่งถึงสองแก้วก่อนรับประทานอาหารในแต่ละมื้อเพื่อช่วยให้อิ่มไวขึ้น
  8. เพิ่มการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หรือออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่นถ้ามีอาการปวดหลังหรือปวดเข่าควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประเภทวิ่งหรือกระโดดแต่ควรออกกำลังกายประเภทว่ายน้ำหรือเดิน
  9. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการดูหน้าจอทีวีหรือโทรศัพท์ในเวลากลางคืนเพราะแสงสีน้ำเงิน (Blue light) จากหน้าจอจะทำให้สมองเรารู้สึกว่าเป็นเวลากลางวันพอถึงเวลาที่จะนอนทำให้นอนไม่หลับ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือชาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนที่จะเข้านอนและควรงดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพราะจะทำให้ลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
  10. ห้ามเครียด วิตกกังวล น้อยใจหรือเสียใจ เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของการที่ทำให้นอนไม่หลับและบางคนพอเครียดจะทำให้บริโภคอาหารมากขึ้น นอกจากนี้นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางวิชาการว่าความเครียดทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
โดยสรุปการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักในผู้สูงอายุนั้นสามารถทำได้และมีประโยชน์อย่างมากเพราะทำให้โรคต่างๆลดน้อยลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น 

เรียบเรียงโดย นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)

Thursday, May 21, 2020

Saxenda ปากกาลดน้ำหนัก

Saxenda หรือ Liraglutide เป็นยาฉีดในกลุ่ม GLP-1 analogue ที่ได้รับข้อบ่งใช้ ในการลดน้ำหนักควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

Saxenda



โรคอ้วนนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตัก (Fatty liver) ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea หรือ OSA) ข้อเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม รวมถึงภาวะซึมเศร้า อาจสร้างความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม 

ดังนั้นการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนย่อมส่งดีต่อร่างกายและจิตใจแน่นอน แต่หลายครั้งที่เราพยายามลดน้ำหนักด้วยการคุมอาหารและออกกำลังกายแต่ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเสียที ทำให้เกิดความท้อแท้บางคนถึงกับเลิกน้ำหนักไปเลยก็มี ดังนั้นการใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วนจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดน้ำหนักให้ถึงเป้าหมาย 

สำหรับประเทศไทยมียาลดน้ำหนักหรือยาลดความอ้วน ประเภทหลักๆ คือ (1) Phentermine (Panbesy) เป็นยารับประทานเพื่อลดความอยากของอาหาร (2) Oristat (Xenical) เป็นยารับประทานลดการดูดซึมของไขมัน (3) Saxenda (Liraglutide) เป็นยาฉีดในกลุ่ม GLP-1 analogue ที่ได้รับข้อบ่งใช้ ในการลดน้ำหนักควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

Saxenda (Liraglutide) เป็นยาฉีดในชั้นไขมันในรูปแบบปากกา ที่ใช้ในการลดน้ำหนักนั้นต้องใช้ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวันจึงจะได้ผลในการลดน้ำหนัก 5-10% ของน้ำหนักเดิม เป็นเวลาอย่าน้อย 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน ดังนั้นถ้าใช้ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda แล้วน้ำหนักลดไม่ถึง 5% ของน้ำหนักตั้งต้นควรหยุดฉีดยาเพราะนอกจากสิ้นเปลืองแล้วยังเจ็บตัวอีกด้วย 

การใช้ยาฉีด Saxenda ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เฉพาะทางโภชนบำบัด หรือ อายุรแพทย์ต่อมไร่ท่อ ไม่ควรหาซื้อยามาฉีดเองเพราะอาจไม่ได้ประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ ข้อบ่งใช้ยา Saxenda คือ
(1) มีดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) เกิน 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร (2) มีดัชนีมวลกาย (Body mass index, BMI) เกิน 27 กิโลกรัม/ตารางเมตร ร่วมกับโรคร่วมเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่ 2 ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น 

ข้อห้ามในการใช้ ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda  เช่น ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ (Medullary Thyroid Cancer) หรือ Multiple Endocrine Neoplasia syndrome Type 2 (MEN 2) 

ผลข้างเคียงของ ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda 
- พบได้มากกว่า 10% เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ปวดศีรษะ น้ำตาลต่ำ(ในกรณีใช้ร่วมกับยาเบาหวานบางชนิด)
- พบได้ 1-10% เช่น ไม่อยากอาหาร เวียนหัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องอืด กรดไหลย้อน เวียนหัว ผายลมบ่อย ปากแห้ง นอนไม่หลับ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในทางเดินอาหาร บวมแดงอักเสบบริเวณที่ฉีดยา วิตกกังวลเพิ่มขึ้น
- พบได้น้อยกว่า 1% ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) นิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis) มะเร็งไทรอยด์ทั้งชนิด Medullary และ Papillary มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ผื่นแพ้คัน ไตวายเนื่องจากภาวะขาดน้ำจากการอาเจียนหรือท้องเสีย 

การเก็บรักษาปากกาลดน้ำหนัก Saxenda 
หากยังไม่เปิดใช้ให้เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ( 2 องศาเซลเซียส ถึง 8 องศาเซลเซียส) ห้ามเก็บบริเวณช่องแช่แข็ง ยาที่ยังไม่เปิดใช้มีอายุเท่ากับวันหมดอายุที่ระบุบนปสดกา
หลังจากเปิดใช้ครั้งแรกให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียสหรือเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ (2 องศาเซลเซียส ถึง 8 องศาเซลเซียส) ห้ามแช่แข็งและสวมปลอกปากกาไว้เพื่อป้องกันแสง ยาที่เปิดใช้แล้วมีอายุหนึ่งเดือน

วิธีการใช้ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda 
ปากกาลดน้ำหนัก Saxenda เป็นยาฉีดวันละครั้ง เวลาใดก็ได้โดยไม่ขึ้นกับมื้ออาหาร โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ควรฉีดยา Saxenda เวลาเดิมทุกวัน
บริเวณที่เหมาะสมในการฉีดยาที่ดีที่สุดคือหน้าท้องโดยฉีดห่างจากรอบสะดืออย่างน้อย 2 นิ้วมือหรือ 3 เซนติเมตร การดูดซึมที่หน้าท้องจะเร็วกว่าที่ต้นแขนต้นขาและก้นตามลำดับ
ควรเปลี่ยนตำแหน่งที่ฉีดโดยเว้นระยะประมาณ 2 นิ้วมือในบริเวณเดิมและกลับมาฉีดตำแหน่งเดิมได้เมื่อพ้น 4-8 สัปดาห์ไปแล้วเนื่องจากการฉีดูซ้ำตำแหน่งเดิมบ่อยครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกันอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดยาเป็นก้อนนูนแข็งหรือรอยบุ๋ม ไม่ควรย้ายบริเวณที่ฉีดยาทุกวันเช่นย้ายจากหน้าท้องไปต้นแขนหรือต้นขาเพราะจะทำให้เวลาในการดูดซึมยาแตกต่างกันและไม่ควรนวดหรือประคบน้ำร้อนบริเวณที่ฉีดยา



เพื่อบรรเทาผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารเช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ควรเริ่มฉีดยาด้วยขนาด 0.6 มิลลิกรัมวันละครั้งอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นจึงเพิ่มขนาดยาเป็น 1.2, 1.8 และ 2.4 มิลลิกรัมขนาดละ 1 สัปดาห์  Saxenda 3 มิลลิกรัมต่อวันจะเป็นขนาดที่ได้ผลดีต่อการลดน้ำหนัก ควรตั้งควรตั้งเป้าหมายว่าถ้าฉีดยา Saxenda ในขนาด 3 มิลลิกรัมต่อวัน ควรได้น้ำหนักลดลง 5-10% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้นในเวลา 12 สัปดาห์ ถ้าไม่ได้ผลตามเป้าหมายควรพิจารณาหยุดใช้ยา Saxenda

เรียบเรียงโดย
นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)





Saturday, May 9, 2020

นับคาร์บ Carb counting

การนับคาร์โบไฮเดรตในผู้ป่วยเบาหวาน
Carb Counting for Diabetes

การบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานถ้าต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ต้องรู้จักและควบคุมปริมาณอาหารจำพวกนี้ให้ได้ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) ในเบาหวานชนิดที่ 1 นี้จะไม่สามารถสร้างอินซูลินเองได้ จึงต้องพึ่งพาอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 
ปริมาณคาร์บในแต่ละมื้ออาหารจะเป็นตัวกำหนดปริมาณอินซูลินที่ต้องฉีดในแต่ละมื้ออาหาร  สำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) หรือในคนทั่วไป การควบคุมคาร์บก็ช่วยในการคุมระดับน้ำตาลและยังช่วยให้สุขภาพดีอีกด้วย ในแต่ละวันควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 10 ถึง 12 คาร์บต่อวัน  หัวใจสำคัญของการนับคาร์โบไฮเดรตคือหนึ่งต้องรู้ว่าอะไรคือคาร์โบไฮเดรต สองอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตหนึ่งส่วนมีปริมาณเท่าไร สามต้องรู้วิธีการอ่านฉลากบริโภคซึ่งมีรายละเอียดดังนี้




1. คาร์บมีในอาหารประเภทไหน

1.1 หมวดข้าว เส้น ขนมปัง เช่นเข้าเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เส้นใหญ่ เส้นเล็ก บะหมี่ เส้นหมี่ขนมจีน เส้นสปาเกตตี้ มะกะโรนี ขนมปังแผ่น 
ขนมปังโฮวี แคร็กเกอร์ เป็นต้น

1.2 หมวดเผือก มัน ข้าวโพด และถั่วต้มทุกประเภท

1.3 หมวดผลไม้ทุกชนิดและน้ำผลไม้ น้ำส้ม น้ำแตงโมน้ำมะพร้าว

1.4 หมวดผักที่ให้พลังงาน (ผักประเภท ข) แครอทฟักทอง หัวไชเท้า หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโครี

1.5 นมและผลิตภัณฑ์ของนม นมวัว นมแพะ นมถั่ว น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง นมข้าวโพด โยเกิร์ต




1.6 น้ำตาล น้ำผึ้งและน้ำหวาน



2. อาหาร 1 คาร์บคือเท่าไหร่

1 คาร์บเท่ากับคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม หรือน้ำตาลทราย 3 ช้อนชา ปริมาณ 1 คาร์บตามอาหารหมวกต่างๆ เช่น

1.1 หมวดข้าว เส้น ขนมปัง
1 คาร์บเท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพีหรือ5 ช้อนโต๊ะ ข้าวเหนียวครึ่งทัพพี เส้นทุกประเภท 1 ทัพพีหรือ5 ช้อนโต๊ะ ขนมปัง 1 แผ่น แครกเกอร์ 6 แผ่น

1.2 หมวดเผือก มัน ข้าวโพด และถั่วต้ม
1 คาร์บเท่ากับเผือก มัน ถั่วต้ม 1 ทัพพีหรือ5 ช้อนโต๊ะ ข้าวโพดครึ่งฝัก

1.3 หมวดผลไม้ทุกชนิดและน้ำผลไม้
1 คาร์บเท่ากับ ผลไม้ขนาดเท่ากำมือ เช่น 
- กล้วยหอม ฝรั่ง แก้วมังกร มะม่วง ครึ่งผล 
- กล้วยน้ำว้า ส้ม แอปเปิ้ล หนึ่งผล
- ขนุน มะขามหวาน 2 ชิ้น
- มังคุด เงาะ พุทรา 4 ผล
- ลองกอง ลิ้นจี่ ลำไย 5-6 ผล
- มะละกอ สัปปะรด แตงโม 6-8 ชิ้นคำ
- น้ำผลไม้ ครึ่งแก้วประมาณ 100 มิลลิลิตร

1.4 หมวดผักที่ให้พลังงาน (ผักประเภท ข)
1 คาร์บเท่ากับ ฟักทอง แครอท ถั่วงอก 3 ทัพพี

1.5 นมและผลิตภัณฑ์ของนม
1 คาร์บเท่ากับนมจืด 1 แก้ว โยเกิร์ต 1 ถ้วย

1.6 น้ำตาล น้ำผึ้งและน้ำหวาน
1 คาร์บเท่ากับ น้ำตาลหนึ่งช้อนโต๊ะ (สามช้อนชา) น้ำผึ้งหนึ่งช้อนโต๊ะ น้ำหวานหนึ่งช้อนโต๊ะ

3. อ่านฉลากโภชนาการ

การอ่านฉลากโภชนาการนั้นควรอ่านที่คาร์โบไฮเดรตกี่กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คาร์โบไฮเดรตหนึ่งส่วน (หนึ่งคาร์บ) เท่าคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม 

ตัวอย่างที่หนึ่ง ซีเรียลอาหารเช้าหนึ่งกล่องมีห้าหน่วยบริโภคหนึ่งหน่วยบริโภคมีคาร์โบไฮเดรตสองส่วน
ดังนั้นหนึ่งกล่องจะมีคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 10 ส่วน (5หน่วยบริโภค x 2 คาร์บ)





ตัอย่างที่สอง ทุเรียนกวนหนึ่งแท่งน้ำหนักสุทธิ 100 กรัมมี 17 หน่วยบริโภคหนึ่งหน่วยบริโภคมีคาร์โบไฮเดรต 19 กรัม ดังนั้นทุเรียนกวนหนึ่งแท่งมีคาร์โบไฮเดรต 323 กรัมหรือประมาณคาร์โบไฮเดรต 22 ส่วน (22คาร์บ) 
ถ้าเรากินทุเรียนกวนหนึ่งแท่งจนหมดแสดงว่าเราได้คาร์โบไฮเดรต เท่ากับสองวันเชียว




โดยสรุป การนับคาร์โบไฮเดรตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่งและสองรวมถึงคนทั่วไปที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อป้องกันการเกิดเบาหวานในอนาคตโดยควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตวันละ 10 ถึง 12 ส่วนต่อวัน อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเช่นข้าว เส้น ขนมปัง ผลไม้ทุกชนิด รวมถึงเผือกมันข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผักใบไม่จำเป็นต้องนับคาร์โบไฮเดรต

เรียบเรียงโดย
นายแพทย์ธีรวุฒิ (Doctor Theerawut)